โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 283 ทวิ, 318, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก, 319 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 376 ฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารและพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพรากผู้เยาว์ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 3 ปี ฐานมีอาวุธปืนจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ฐานยิงปืน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 วัน ฐานมีและพาอาวุธปืนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 10 วัน ริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และปลอกกระสุนปืนของกลาง กับคืนรถจักรยานยนต์ทั้งสองคันแก่เจ้าของ (ที่ถูก ต้องระบุด้วยว่า ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก)
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานพาผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร และฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดฐานพาเด็กหญิง ม. อายุ 15 ปีเศษ แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กหญิง ม. ไปเสียจากนาย ด. และนาง ป. บิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยเด็กหญิง ม. เต็มใจไปด้วย ปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยมีตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือไม่ ข้อนี้โจทก์นำสืบโดยมีเด็กหญิง ม. มาเบิกความเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงเป็นทำนองว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย โดยจำเลยที่ 1 ได้กระทำชำเราพยานด้วย และหลังเกิดเหตุเมื่อพยานถูกนำตัวออกจากที่เกิดเหตุเพื่อนำตัวมาส่งบ้าน จำเลยที่ 1 กับพวกคือจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขับรถจักรยานยนต์ผ่านเข้ามาในบริเวณตัวเมืองที่มีแสงไฟฟ้าสว่าง จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้าย บางครั้งก็ขับมาตีคู่กับรถที่จำเลยที่ 4 เป็นคนขับและให้พยานนั่งซ้อนท้ายพยานเห็นหน้าจำเลยที่ 1 ได้อย่างชัดเจน กับโจทก์มีจ่าสิบตำรวจมนศักดิ์ ผู้จับกุมมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเป็นทำนองว่า พยานร่วมกับพวกจับกุมจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ โดยจับกุมจำเลยที่ 4 ได้ก่อนแล้วจำเลยที่ 4 ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วย ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพปรากฏตามบันทึกการจับกุมกับโจทก์มีพันตำรวจโทอนันต์ พนักงานสอบสวนมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเป็นทำนองว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การยอมรับว่าร่วมกับพวกกระทำความผิดด้วยปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังนี้ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในที่เกิดเหตุด้วยนั้น ไม่มีพิรุธ เชื่อได้ว่าพยานจะเบิกความไปตามที่รู้เห็นจริง ๆ ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ยืนยันข้อเท็จจริงทำนองว่า คืนเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มาขอยืมรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปขับ จำเลยที่ 1 ก็ให้ยืมไปโดยไม่ได้ออกจากบ้านไปด้วย ช่วงเวลาที่ผู้เสียหายอ้างว่าเหตุเกิดนั้นจำเลยที่ 1 นอนอยู่ที่บ้านกับภริยาและบุตร รุ่งเช้าเจ้าพนักงานตำรวจมาควบคุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปที่สถานีตำรวจแล้วเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายบังคับให้จำเลยที่ 1 รับสารภาพว่าร่วมเป็นคนร้ายด้วย กับทั้งเมื่อนำจำเลยที่ 1 ออกไปแถลงข่าวกับสื่อมวลชน เจ้าพนักงานตำรวจก็บังคับจำเลยที่ 1 ว่าให้บอกนักข่าวว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วย มิฉะนั้นจะทำร้ายจำเลยที่ 1 อีกนั้น เห็นว่า เป็นแต่เพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ด้วย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และไม่ได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตราดังกล่าวได้นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 ฐานพรากผู้เยาว์ไปโดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เป็นการพรากผู้เยาว์ไปโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษที่ต่ำกว่าเช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน