คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกผู้ร้องในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้ร้อง และเรียกผู้คัดค้านในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้าน
สำนวนแรก ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 9,615,070.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง และขอให้บังคับผู้คัดค้านรับผิดค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ค่าบริการผู้แทนหรือบุคคลเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในส่วนของผู้ร้องที่ชำระไปในชั้นอนุญาโตตุลาการรวมเป็นเงิน 113,663.50 บาท แก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้ร้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ และค่าบริการผู้แทนหรือบุคคลเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการแทนผู้คัดค้าน
สำนวนหลัง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 21/2564 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2565 ให้ผู้ร้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ และค่าบริการผู้แทนหรือบุคคลเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการแทนผู้คัดค้าน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 9,615,070.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ให้ผู้คัดค้านชำระค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ชั้นอนุญาโตตุลาการ ค่าบริการผู้แทนหรือบุคคลเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในส่วนของผู้ร้องที่ชำระไปในชั้นอนุญาโตตุลาการรวมเป็นเงิน 113,663.50 บาท ให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ให้คืนค่าขึ้นศาลที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านเสียเกินมาฝ่ายละ 25,000 บาท แก่ผู้ร้องและผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ผู้คัดค้านทำสัญญาจ้างกับการไฟฟ้านครหลวงรับจ้างก่อสร้างบ่อพักและงานร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ร่วมกับโครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์ - ร่มเกล้า (ช่วงที่ 1) กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ผู้ร้องตกลงรับจ้างก่อสร้างงานดังกล่าวกับผู้คัดค้านตกลงค่าจ้าง 194,796,700 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 13,635,769 บาท รวมเป็นเงิน 208,432,469 บาท โดยมีข้อตกลงว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามสัญญานี้ คู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ (กรุงเทพมหานคร) เป็นผู้ชี้ขาด ผู้ร้องส่งมอบงานงวดสุดท้ายและแจ้งให้ผู้คัดค้านชำระค่าจ้างงวดสุดท้าย 12,716,063.01 บาท แต่ผู้คัดค้านไม่ชำระเงินค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ตามที่ผู้ร้องเรียกร้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ผู้ร้องกับผู้คัดค้านทำบันทึกข้อตกลง ภายหลังผู้ร้องมีหนังสือขอบอกล้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว และเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อขอให้มีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและยื่นคำร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขอบอำนาจตามมาตรา 24 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งเห็นควรรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานและจะวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวในประเด็นข้อพิพาทที่ได้กำหนดไว้ และกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ข้อ 1 ผู้คัดค้านจะต้องชำระเงินประกันผลงานและค่าจ้างงวดสุดท้ายแก่ผู้ร้องหรือไม่ เพียงใด ข้อ 2 บันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 14 มกราคม 2563 มีผลใช้บังคับตามกฎหมายได้หรือไม่ เพียงใด ข้อ 3 ผู้ร้องมีสิทธิเสนอข้อพิพาทนี้ต่อคณะอนุญาโตตุลาการหรือไม่ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 9,615,070.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่ได้มีคำชี้ขาด (วันที่ 10 มีนาคม 2565) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ให้ผู้คัดค้านรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ และค่าบริการผู้แทนหรือบุคคลเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการฝ่ายละ 10,000 บาท ตามสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 21/2565
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการแรกว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี และมิได้ระบุเหตุผลแห่งการวินิจฉัยโดยชัดแจ้ง เนื่องจากคู่พิพาทโต้แย้งกันตามคำเสนอข้อพิพาทและตามคำคัดค้านเฉพาะเพียงประเด็นเดียวว่าบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 14 มกราคม 2563 ตกเป็นโมฆียะเนื่องจากผู้คัดค้านทำกลฉ้อฉลต่อผู้ร้องเพื่อให้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น คณะอนุญาโตตุลาการจึงมิอาจนำข้อเท็จจริงอื่นที่คู่พิพาทมิได้โต้แย้งในคำเสนอข้อพิพาทและคำคัดค้านมาใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ปรากฏว่าไม่มีส่วนใดเลยในคำชี้ขาดที่วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านได้ทำกลฉ้อฉลต่อผู้ร้องอย่างไร และกลฉ้อฉลนั้นถึงขนาดหรือไม่ จึงเป็นคำชี้ขาดที่มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีและส่งผลให้เป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า ในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทว่า ผู้ร้องทำสัญญาจ้างก่อสร้างกับผู้คัดค้าน ผู้ร้องส่งมอบงานงวดสุดท้ายตามกำหนดและแจ้งให้ผู้คัดค้านชำระค่างานงวดสุดท้าย แต่ผู้คัดค้านแจ้งว่าปิดงบการเงินประจำปีไปแล้วจะขอชำระบางส่วน ส่วนเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจะชำระในลักษณะเป็นการจ้างงานใหม่ ผู้ร้องหลงเชื่อจึงยินยอมลงชื่อในบันทึกข้อตกลง แต่ผู้คัดค้านนำงานใหม่ไปว่าจ้างบุคคลอื่น การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฉ้อฉลให้ผู้ร้องลงชื่อในบันทึกข้อตกลงซึ่งผู้ร้องได้บอกล้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้ายแก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านตรวจสอบเอกสารแล้วปรากฏว่ามีแต่เงินประกันผลงานและเงินค่าจ้างค้างชำระเป็นจำนวนตามบันทึกข้อตกลงเท่านั้น จึงทำบันทึกข้อตกลงโดยผู้ร้องสละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินอื่นใดอีก บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการจัดทำขึ้นตามความประสงค์ของคู่สัญญามิได้เกิดจากกลฉ้อฉล และถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดในเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายรวมถึงเงินประกันผลงานที่ผู้ร้องเรียกร้อง และผู้ร้องไม่มีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเนื่องจากข้อพิพาทไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับสัญญาจ้าง คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยความเห็นชอบของคู่พิพาททั้งสองฝ่าย ดังนี้ ข้อ 1 ผู้คัดค้านจะต้องชำระเงินประกันผลงานและค่าจ้างงวดสุดท้ายแก่ผู้ร้องหรือไม่ เพียงใด ข้อ 2 บันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 14 มกราคม 2563 มีผลใช้บังคับตามกฎหมายได้หรือไม่ เพียงใด และ ข้อ 3 ผู้ร้องมีสิทธิเสนอข้อพิพาทนี้ต่อคณะอนุญาโตตุลาการหรือไม่ ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาพยานหลักฐานและมีคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านยังไม่ได้จ่ายเงินประกันผลงานและเงินค่าจ้างงวดสุดท้าย และวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ว่า หลังจากที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงแล้ว กรรมการผู้ร้องได้โทรศัพท์พูดคุยกับทนายความของผู้คัดค้าน วิศวกรของผู้คัดค้าน และผู้จัดการโครงการ สอบถามเกี่ยวกับเรื่องเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายตลอดมา และต่อมาเมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านนำงานใหม่ไปว่าจ้างผู้อื่น ผู้ร้องจึงมีหนังสือขอบอกล้างข้อตกลง พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ผู้ร้องมิได้มีเจตนาสละสิทธิที่จะไม่เรียกร้องค่าจ้าง ค่างานเพิ่มเติม ค่าเสียหาย หรือเงินอื่นใดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ที่ผู้ร้องลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงเนื่องจากผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นแบบฟอร์มเพื่อใช้ในการปิดบัญชี และผู้ร้องต้องการรับเงินเป็นเงินประกันผลงานและค่าจ้างบางส่วนเพื่อนำไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ซึ่งผู้ร้องนัดหมายเอาไว้ล่วงหน้า อีกทั้งผู้ร้องยังเชื่อใจว่าผู้คัดค้านจะนำงานใหม่มาว่าจ้าง และหากผู้ร้องไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลง ผู้คัดค้านจะไม่ยินยอมจ่ายเงินใด ๆ เมื่อผู้ร้องบอกล้างข้อตกลงดังกล่าว ข้อตกลงในส่วนที่อ้างว่าผู้ร้องสละสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างหรือเงินอื่นใดจึงไม่มีผลใช้บังคับ และมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าจ้างและเงินประกันผลงานรวมเป็นเงิน 9,615,070.72 บาท แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักจากพยานหลักฐานทั้งปวงแล้ววินิจฉัยว่าพฤติการณ์ดังกล่าวที่ปรากฏในคำชี้ขาดถือเป็นการถูกกลฉ้อฉลถึงขนาด จึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 เป็นเหตุให้ผู้ร้องมีสิทธิบอกล้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้ คำชี้ขาดในส่วนนี้จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและระบุเหตุผลแห่งการวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทำนองว่า การทำบันทึกข้อตกลงเป็นไปด้วยความสมัครใจอันเกิดจากการคิดพิจารณาไตร่ตรองและมีอำนาจเจรจาต่อรองที่ทัดเทียมเสมอกัน บันทึกดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมายและมิได้ตกเป็นโมฆียะนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขัดต่อวิธีพิจารณาหรือฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เข้าเหตุที่จะอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการต่อมาว่า คำชี้ขาดเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทที่ไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือเป็นคำวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท และเป็นคำชี้ขาดที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการหรือไม่นั้น เมื่อพิเคราะห์ตามสัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อ 25 ระบุให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามสัญญานี้ คู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ (กรุงเทพมหานคร) เป็นผู้ชี้ขาด ตามสัญญาดังกล่าวจึงกำหนดขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการไว้อย่างกว้าง เมื่อผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทให้ผู้คัดค้านชำระเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้ายอันเนื่องมาจากการว่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ถือเป็นกรณีมีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามสัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าว จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่คณะอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยได้และไม่ใช่คำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนประเด็นข้อพิพาทในข้อ 2 เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงว่ามีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่นั้น เมื่อบันทึกข้อตกลงทำขึ้นเนื่องจากผู้ร้องเรียกร้องเงินค่างานงวดสุดท้ายและเงินประกันผลงานตามสัญญาจ้างก่อสร้าง ย่อมถือเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องและเกิดขึ้นจากสัญญาจ้างก่อสร้างซึ่งต้องวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างก่อสร้างเช่นเดียวกัน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในส่วนบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นอำนาจในการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่และความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 การที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจพิจารณาจากพยานหลักฐานแล้วว่าผู้ร้องไม่มีเจตนาจะทำบันทึกข้อตกลงและได้บอกล้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว การที่ผู้ร้องเรียกร้องให้ผู้คัดค้านจ่ายเงินประกันผลงานและค่าจ้างงวดสุดท้ายจึงเป็นข้อพิพาทตามสัญญาจ้างซึ่งกำหนดให้ระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องจึงมีสิทธิเสนอข้อพิพาทนี้ต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ คำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงชอบด้วยกฎหมาย การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมานั้น จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท