โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 92, 279, 283 ทวิ, 317 เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 กระทงละหนึ่งในสาม ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 4 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ฎีกาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ผ่านทางเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีก 30 วัน โดยไม่ได้ระบุพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่อาจขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย และแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกเพื่อแจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 2 ผ่านทางเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องด้วยเหตุผลเดียวกับที่สั่งยกคำร้องจำเลยฉบับแรก และแจ้งคำสั่งไปยังเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 3 ผ่านทางเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 7 สิงหาคม 2563 อ้างเหตุที่มิได้ยื่นคำร้องขอก่อนสิ้นระยะเวลายื่นฎีกา เนื่องจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ทนายจำเลยไม่สามารถเดินทางมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ ประกอบกับจำเลยถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ประกาศงดการเยี่ยม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาสองฉบับแรกจำเลยมิได้กล่าวถึงพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัย และจำเลยมิได้ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลายื่นฎีกา ซึ่งจำเลยสามารถกระทำได้ผ่านทางพัศดีเรือนจำ จึงให้ยกคำร้อง และแจ้งคำสั่งไปยังเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอขขายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 4 ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 อ้างว่า จำเลยเข้าใจว่าทนายความได้ดำเนินการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและยื่นฎีกาตามกำหนดแล้ว ประกอบกับจำเลยมีปัญหากับญาติและครอบครัวของภริยาจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย อนุญาตให้จำเลยยื่นฎีกาได้ภายในเวลาที่ศาลกำหนด เห็นว่า ขณะที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาครั้งแรกนั้นได้พ้นกำหนดเวลายื่นฎีกาแล้ว การที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ต้องเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย เมื่อคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ไม่ปรากฏพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลายื่นฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยนั้น ถือว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของจำเลยไปแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาครั้งต่อมา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่จำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 มาตรา 144 วรรคหนึ่ง และถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยยื่นฎีกาได้ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตามคำร้องฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 และยกฎีกาของจำเลยโดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6