คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ฐานร่วมกันทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันเข้าไปทำลาย ทำให้สูญหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกันทำอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน และร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ริบของกลางดังกล่าวตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 154
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งหกยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนของกลางแก่ผู้คัดค้านทั้งหก
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน81 - 4800 ราชบุรี 82 - 1906 ราชบุรี 70 - 4395 เพชรบุรี และ 86 - 0006 นครปฐม รถขุดไฮดรอลิค รุ่น พีซี 200 - 7 เอ หมายเลขเครื่องยนต์ 6 ดี 102 -26324452 และ 6 ดี 102 - 26338760 รถเจาะ เอชซีอาร์ 180 และแร่เฟต์สปาร์สะอาด ประมาณ 60 เมตริกตัน ของกลาง
ผู้คัดค้านทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 82 - 1906 ราชบุรี ให้ผู้คัดค้านที่ 1 คืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 81 - 4800 ราชบุรี ให้ผู้คัดค้านที่ 4 และคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70 - 4395 เพชรบุรี ให้ผู้คัดค้านที่ 5 หรือไม่ คดีนี้ผู้ร้องขอให้ศาลริบรถของกลางตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 154 ซึ่งมาตราดังกล่าววรรคท้าย บัญญัติว่า "ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือมีเจ้าของแต่เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดดังกล่าว อีกทั้งตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้น หรือไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวัน ตามวรรคสอง และในกรณีนี้มิให้นำมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ" จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินผู้ขอคืนของกลาง ต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินของกลางดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ศาลจึงจะไม่ริบของกลาง ซึ่งทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ได้ความเพียงว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 เป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางดังกล่าวและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ อันเป็นข้อนำสืบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ซึ่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 154 วรรคท้าย มิให้นำมาใช้บังคับ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ไม่สามารถพิสูจน์ข้ออ้างตามพระราชบัญญัติแร่ ฯ ได้ เช่นนี้ พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ที่นำสืบมาจึงไม่เพียงพอที่จะให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินของกลางแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน