ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาชั้นต้น และการโต้เถียงดุลพินิจถือเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริง
โจทก์ร่วมฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในความผิดฐานบุกรุกเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย โดยโจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมไม่ได้ให้ อ. พี่ชายโจทก์ร่วม เป็นผู้ดูแลกิจการอาคารที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมไม่เคยมอบอำนาจและไม่เคยให้อำนาจ อ. กระทำการเกี่ยวกับอาคารแทนโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้ห้ามจำเลยเข้ามาในอาคารและห้ามนำอาหารมาให้บิดามารดาโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมห้ามปรามอย่างเด็ดขาดแล้วจำเลยยังเข้าไปอีก ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า อ. เป็นผู้ดูแลกิจการร้านเกิดเหตุและพักอาศัยอยู่ในร้าน แม้ อ. จะมิได้เป็นเจ้าของร้าน แต่ก็ถือได้ว่า อ.เป็นผู้ดูแลครอบครองร้านเกิดเหตุ เมื่อ อ. ยินยอมให้จำเลยเข้าไปภายในร้านจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยบุกรุก ดังนี้ ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่า อ. มีสิทธิให้จำเลยเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ถือว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และมาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว มิได้มีบทบัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 กล่าวคือ โจทก์ร่วมต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ แต่โจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องดังที่กล่าวข้างต้น ดังนี้ การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม จึงไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้