ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาชั้นต้นก่อน และการวินิจฉัยอำนาจผู้ดูแลครอบครอง
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า อ. เป็นผู้ดูแลกิจการร้านเกิดเหตุ และพักอาศัยอยู่ในร้านเกิดเหตุ แม้ อ. จะมิได้เป็นเจ้าของร้านเกิดเหตุ แต่ก็ถือได้ว่า อ. เป็นผู้ดูแลครอบครองร้านเกิดเหตุ เมื่อ อ. ยินยอมให้จำเลยเข้าไปภายในร้านเกิดเหตุ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยบุกรุก ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเพราะโจทก์ร่วมอนุญาตให้ อ. มีสิทธิเฉพาะทำการค้าขาย ทำงานเพื่อมีรายได้สำหรับ อ. ไว้ใช้จ่ายของ อ. เอง โจทก์ร่วมไม่ได้ให้ อ. เป็นผู้ดูแลกิจการอาคารที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมไม่เคยมอบอำนาจและไม่เคยให้อำนาจ อ. กระทำการเกี่ยวกับอาคารแทนโจทก์ร่วมเลย ยังปรากฏชัดว่า โจทก์ร่วมได้ห้ามจำเลยเข้ามาในอาคารที่เกิดเหตุ และห้ามจำเลยนำอาหารมาให้บิดามารดาโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมห้ามปรามอย่างเด็ดขาดแล้ว จำเลยยังเข้าไป ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่า อ. มีสิทธิให้จำเลยเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมนั้นชอบแล้ว
การขออนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 กล่าวคือ โจทก์ร่วมต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวข้างต้น แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่อาจถือได้ว่า ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่มีผลตามกฎหมายให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้