ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การว่าจ้างดูแลความปลอดภัย, ตัวการร่วม, การรับช่วงสิทธิจากผู้รับประกันภัย, การวินิจฉัยนอกฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินซึ่งเป็นรถยนต์ของบุคคลทั่วไปที่นำเข้ามาจอดในลานจอดรถของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทปล่อยให้มีผู้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยไม่คืนบัตรจอดรถ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 แม้จะให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของลูกค้าผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอกแต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การว่าจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้มาดำเนินการดูแลและรักษาความปลอดภัยแก่พนักงานและทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ที่อยู่ภายในสาขานครปฐม โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตามสัญญาจ้างที่จะต้องจัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัย อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ต้องใช้ในการรักษาความปลอดภัยในการดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 มิได้ให้การว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างบริษัท บ. ดูแลความปลอดภัยให้จำเลยที่ 3 เช่นนี้จึงแปลได้ว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยแล้ว การที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 แต่ว่าจ้างบริษัท บ. ดูแลรักษาความปลอดภัยให้จำเลยที่ 3 จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างบริษัท บ. จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาท ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 แล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทอันเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งมีผลทำให้การวินิจฉัยคดีของศาลคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่จะมุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 ต้องพึงมีตามวิสัยและพฤติการณ์ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่... กลับปล่อยให้มีผู้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยไม่รับคืนบัตรจอดรถเท่ากับว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้รับผิดฐานละเมิดไว้ด้วย หาได้บรรยายฟ้องให้รับผิดฐานฝากทรัพย์เท่านั้นไม่
จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าตามสมควร การที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณลานจอดรถจึงเป็นการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 และลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำการดูแลรักษาความปลอดภัยแทน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ในการดูแลรักษาความปลอดภัย โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับบัตรจอดรถคืนจากผู้ขับรถ เมื่อปรากฏว่ามีผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยออกจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยบัตรจอดรถยังอยู่กับ ช. และ ไม่ปรากฏว่ามีการคืนบัตรจอดรถหมายเลขทะเบียนเดียวกับรถคันที่โจทก์รับประกันภัย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติหน้าที่เรียกคืนบัตรจอดรถจากคนร้ายเป็นเหตุให้รถที่โจทก์รับประกันภัยถูกลักไป อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าตามสมควร จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
โจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทจาก ช. ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น" ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องจากผู้ทำละเมิดได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว