โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไม้สักแปรรูป 834 ชิ้น ปริมาตร 1.02 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73, 74 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503มาตรา 17 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2515และริบของกลาง
จำเลยให้การรับว่า เจ้าพนักงานจับไม้ของกลางได้ขณะอยู่ในความครอบครองของจำเลยจริง แต่ไม้ดังกล่าวเป็นของใช้สำเร็จรูปแล้ว จึงไม่เป็นความผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ไม้ของกลางเป็นเขียงอันเป็นเครื่องใช้สำเร็จรูปแล้วพ้นสภาพจากการเป็นไม้แปรรูปตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ฯมาตรา 4(4) จำเลยมีไว้ในความครอบครองไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ไม้ของกลางไม่ใช่เขียงที่ชาวบ้านในท้องที่นั้นใช้อยู่เป็นปกติแต่เป็นไม้แปรรูปที่จำเลยเตรียมส่งไปต่างประเทศ พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ 2484 มาตรา 48, 73, 74พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 17 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 4 ให้จำคุกจำเลย 6 เดือนจำเลยยอมรับผิดในขณะเจ้าพนักงานทำการจับกุม เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน ไม้ของกลางให้ริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้าพนักงานจับไม้สักของกลางได้ที่โรงงานของจำเลยอันเป็นโรงงานแกะสลักไม้ ไม้สักของกลางแต่ละแผ่นมีลักษณะเหมือนกันคือ เป็นแผ่นกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว หนา 1 นิ้ว เซาะร่องที่ขอบโดยรอบร่องลึกประมาณครึ่งนิ้ว ขัดและทาน้ำมันแล้วทุกแผ่น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(4)ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ข้อ 1 ไม้แปรรูปหมายความรวมถึงไม้ที่อยู่ในสภาพที่เป็นเครื่องใช้ที่ไม่ชอบด้วยลักษณะของเครื่องใช้ที่ใช้เป็นปกติในท้องที่นั้น หรือที่ผิดปกติวิสัย ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยเองว่า เขียงทั่วไปส่วนใหญ่ในท้องที่ใช้ไม้มะขามเนื้อแข็งกว่า และขนาดหนากว่าไม้สักของกลาง ไม่มีเซาะร่องที่ขอบ ลักษณะของกลางคดีนี้จึงผิดจากลักษณะเขียงที่ใช้กันอยู่ในท้องที่เกิดเหตุ ถึงจะมีผู้ซื้อไม้สักที่มีรูปลักษณะอย่างไม้สักของกลางไปใช้แทนเขียง ก็ไม่ใช่เขียงที่คนในท้องถิ่นนั้นใช้กัน ถือว่ายังเป็นไม้แปรรูปอยู่ จำเลยมีไว้ในความครอบครองจึงเป็นความผิดดังฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า ไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้แล้ว ไม่ว่าจะชอบด้วยลักษณะของเครื่องใช้ที่ใช้เป็นปกติในท้องที่หรือไม่ ก็ไม่เป็นไม้แปรรูปอีกต่อไป เพราะมาตรา 4(4) วรรคสอง ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นความในวรรคแรกไว้ ได้พิเคราะห์แล้ว ความในวรรคสองของมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นเรื่องไม้แปรรูปที่ได้กลายสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องใช้แล้วจะกลับคืนเป็นไม้แปรรูปได้อีกหรือไม่ ความในวรรคสองนี้ หาใช่บทยกเว้นความในวรรคแรกไม่ ดังนั้นคำว่าเครื่องใช้ในวรรคนี้จึงหมายความว่าเครื่องใช้ที่ชอบด้วยลักษณะของเครื่องใช้ที่ใช้เป็นปกติในท้องที่นั้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์