โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 83, 91, 92 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3674/2558 ของศาลจังหวัดพัทยาเข้ากับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ประหารชีวิตจำเลยทั้งสี่ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวางโทษประหารชีวิตแล้วไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 และไม่อาจบวกโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3674/2558 ของศาลจังหวัดพัทยาเข้ากับโทษในคดีได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกคนละตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 4 ขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค มีจำเลยที่ 1 นั่งโดยสารไปด้วย และจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส ที่ยืมมาจากนางจรรยา มีจำเลยที่ 2 นั่งโดยสารไปด้วย เดินทางจากจังหวัดชลบุรีไปจังหวัดเชียงราย โดยจำเลยที่ 4 ขับรถตามรถของจำเลยที่ 3 ไป เมื่อถึงจังหวัดเชียงราย จำเลยทั้งสี่ไปพักที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส ตามรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับ และจำเลยที่ 2 และที่ 4 นั่งโดยสารไปด้วย เพื่อเดินทางกลับจังหวัดชลบุรี ครั้นเวลา 23 นาฬิกา จำเลยที่ 3 ขับรถถึงด่านตรวจท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นรถคันดังกล่าวไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย แล้วจำเลยที่ 3 ขับรถย้อนกลับเส้นทางเดิม ต่อมาเวลา 23.25 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปพักค้างคืนที่บ้านสรวยรีสอร์ท วันที่ 21 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส ไปพบจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจำเลยที่ 1 ขับรถตามรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค ไป ต่อมาเวลาประมาณ 10.30 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค มีจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั่งโดยสาร ถึงด่านดงยาง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ร้อยตำรวจโท สุรัชชัย กับพวก ขอตรวจค้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และรถยนต์ แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย เมื่อตรวจปัสสาวะของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 พบว่ามีสารเสพติดในปัสสาวะของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่พบสารเสพติด หลังจากนั้นร้อยตำรวจโท สุรัชชัย กับพวก ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไว้ตรวจสอบ ครั้นเวลาประมาณ 11 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส มาถึงด่านดงยาง จำเลยที่ 1 มีท่าทางพิรุธ ร้อยตำรวจโท สุรัชชัย กับพวกจึงขอตรวจค้นตัวจำเลยที่ 1 พบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง การตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวพบว่ามีการโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 จึงขอตรวจค้นรถ การตรวจค้นรถพบเมทแอมเฟตามีน 68 มัด มัดละ 2,000 เม็ด รวม 137,800 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 12,688.240 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2,934.230 กรัม ซุกซ่อนอยู่ใต้เบาะนั่งด้านหลังและกระโปรงท้ายรถ ร้อยตำรวจโท สุรัชชัย กับพวกจึงจับกุมจำเลยทั้งสี่ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แต่โจทก์มีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกความรับว่าให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจริง ส่วนจำเลยที่ 4 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับคำให้การชั้นสอบสวน เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจและตามความสัตย์จริง โดยไม่มีเหตุจูงใจที่จำเลยที่ 2 จะให้การดังกล่าวหรือร้อยตำรวจโท ณัฐพล พนักงานสอบสวน จะทำบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขึ้นเพื่อรับผลประโยชน์ทางคดีแต่อย่างใด ทั้งตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ดังกล่าวมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนและลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้ทนายความที่เข้าร่วมฟังการสอบสวนจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นคนละคนกันก็ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้สงสัยว่าไม่มีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ด้วย เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กำหนดให้พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาเท่านั้น กรณีการสอบสวนผู้ต้องหาหลายคนจึงไม่จำเป็นต้องมีทนายความคนเดียวกันเข้าร่วมฟังการสอบสวน นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนเมทแอมเฟตามีนของกลาง ก็มิใช่ข้อแตกต่างกับคำให้การของจำเลยที่ 4 เพราะตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 4 แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ต่างให้การตามข้อเท็จจริงที่ตนรู้เห็นเท่านั้น ดังนี้ คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงรับฟังได้ แม้คำให้การดังกล่าวเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่คำซัดทอดนั้นมิได้เป็นเรื่องปัดความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้ประสบมาจากการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยที่ 3 ทั้งไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 โดยจะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ต่อเมื่อมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ซึ่งนอกจากข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติข้างต้นแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นคนแจ้งเส้นทางและเป็นคนควบคุมการเดินทางในการขนเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 2 ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท ให้ขนเมทแอมเฟตามีนจากจังหวัดเชียงรายมาส่งที่จังหวัดชลบุรี โดยจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่นำทาง จำเลยที่ 2 ตกลง จำเลยที่ 3 เป็นคนแจ้งเส้นทางและเป็นคนควบคุมการเดินทางในการขนเมทแอมเฟตามีน และจำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 2 มาพูดกับจำเลยที่ 4 ว่าจ้างให้ขนเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนไว้ในรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส สีขาว โดยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ในราคา 100,000 บาท และว่าจ้างจำเลยที่ 4 ในราคา 50,000 บาท จำเลยที่ 4 ตกลง จำเลยที่ 3 เป็นคนแจ้งเส้นทางและเป็นคนควบคุมการเดินทางในการขนเมทแอมเฟตามีน เมื่อจำเลยทั้งสี่เดินทางไปจังหวัดเชียงรายด้วยกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 เดินทางด้วยรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เดินทางด้วยรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส ขับตามกันไป แล้วพักค้างคืนที่รีสอร์ทแห่งเดียวกัน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสี่เดินทางกลับจังหวัดชลบุรี โดยจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส ตามรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค ที่จำเลยที่ 2 หรือที่ 3 เป็นผู้ขับ มีจำเลยที่ 4 นั่งโดยสารไปด้วย การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ขอยืมมาจากนางจรรยากลับจังหวัดชลบุรีโดยลำพัง ถือเป็นการผิดปกติวิสัยขัดแย้งกับที่จำเลยที่ 1 เดินทางมากับจำเลยที่ 4 ด้วยรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค แต่กลับสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ที่ว่า จำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าว กับจำเลยที่ 3 และที่ 2 มาพูดกับจำเลยที่ 4 ว่าจ้างให้ขนเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนไว้ในรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส สีขาว และโจทก์ยังมีพันตำรวจโท พัสกร เบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ 8 เครื่อง ที่ยึดมาจากจำเลยทั้งสี่ ปรากฏว่ามีการโทรศัพท์เข้าและออกของหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวเชื่อมโยงกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 โทรศัพท์ติดต่อกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 3 การติดต่อที่มีความถี่กันมากคือในช่วงวันที่ 20 ถึง 21 มกราคม 2559 กับร้อยตำรวจโท ณัฐพล เบิกความว่า ตามผังการวิเคราะห์การใช้โทรศัพท์ เริ่มต้นจากวันที่ 18 มกราคม 2559 มีการโทรศัพท์ติดต่อกันระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 4 วันที่ 19 มกราคม 2559 มีการโทรศัพท์ติดต่อกันระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 4 กับจำเลยที่ 4 และที่ 1 วันที่ 20 มกราคม 2559 มีการโทรศัพท์ติดต่อกันระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 วันที่ 21 มกราคม 2559 มีการโทรศัพท์ติดต่อกันระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 4 และที่ 1 ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่ว่า ระหว่างขับรถได้มีการติดต่อกับจำเลยที่ 1 ตลอดเพื่อบอกเส้นทาง แม้โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าในวันที่ 20 และ 21 มกราคม 2559 จำเลยทั้งสี่โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยเรื่องอะไรกันก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถตามรถที่จำเลยที่ 2 หรือที่ 3 ขับเพื่อกลับจังหวัดชลบุรีแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต้องโทรศัพท์ติดต่อกันหลายครั้ง เชื่อว่าเป็นการโทรศัพท์ติดต่อกันเพื่อบอกเส้นทางเดินทางหลีกเลี่ยงด่านตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจ ส่วนที่จำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้เป็นผู้โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 แต่เมื่อจำเลยที่ 3 นั่งอยู่ในรถยนต์คันเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 แล้ว เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ต้องรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 โทรศัพท์พูดคุยเรื่องอะไรกับจำเลยที่ 1 พยานพฤติเหตุแวดล้อมดังกล่าวเมื่อรับฟังประกอบคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้ว คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงประกอบไปด้วยเหตุผลและรับฟังเป็นความจริงได้ จึงเป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษานี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน