โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 743,437.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 650,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ ซึ่งเป็นรถใหม่จากบริษัทสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับจำเลย มีข้อตกลงคุ้มครองกรณีรถยนต์เสียหายหรือสูญหายจำนวนเงินเอาประกันภัย 650,000 บาท โดยระบุให้บริษัทสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์มอบรถยนต์คันดังกล่าวแก่นายปิยะเพื่อนำออกให้เช่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ผู้ที่ระบุชื่อว่านางศุภิสราทำสัญญาเช่ารถยนต์คันดังกล่าวกับนายปิยะ มีกำหนดเวลาเช่า 3 วัน ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2548 ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2548 นายปิยะไปแจ้งความเป็นหลักฐานว่า นางศุภิสราไม่นำรถยนต์มาส่งคืนและไม่สามารถติดต่อได้ หลังจากนั้นวันที่ 15 ตุลาคม 2548 นายปิยะไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นางศุภิสราในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยสูญหาย แต่จำเลยปฏิเสธการชดใช้โดยอ้างเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 5.1 ที่ยกเว้นไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น
ที่จำเลยฎีกาว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุให้บริษัทสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน แต่เป็นสิทธิของผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและโจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก ทั้งที่โจทก์ชำระเพียงเงินดาวน์ 106,728.97 บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต นั้น เห็นว่า ตามข้อต่อสู้เกี่ยวกับอำนาจฟ้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยผู้รับประกันภัยโดยตรง โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้และเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ คงอุทธรณ์เฉพาะในปัญหาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์ยินยอมให้นำรถยนต์ออกให้เช่า เมื่อรถยนต์สูญหายจึงเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงเป็นอันยุติแล้ว จำเลยจะยกขึ้นฎีกาอีกหาได้ไม่ ฎีกาในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทราบเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ในการใช้รถยนต์และการทำสัญญาประกันภัยแล้วว่าได้เปลี่ยนการใช้รถยนต์จากการใช้ส่วนบุคคลเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์ และตีความกรมธรรม์ประกันภัยว่า คู่สัญญาไม่ประสงค์ให้ข้อยกเว้นข้อ 5.1 มีความผูกพันกันนั้น เกินเลยจากลายลักษณ์อักษรที่ระบุไว้ชัดแจ้ง การใช้เพื่อการพาณิชย์ไม่รวมถึงการนำรถออกให้บุคคลภายนอกเช่า โจทก์ต้องแจ้งให้ชัดเจนถึงการนำรถออกให้เช่าเพราะมีความเสี่ยงภัยกรณีรถยนต์สูญหายแตกต่างไป คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาจะยกเลิกข้อสัญญาเดิม และการที่นางศุภิสรายักยอกรถยนต์ไปอยู่ในข้อยกเว้น ข้อ 5.1 ซึ่งมีข้อความชัดเจนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ถือว่า เหตุรถยนต์สูญหายมิได้เกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ของนายปิยะผู้รับมอบการครอบครองรถยนต์จากโจทก์ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ระบุไว้ เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ นั้น เห็นว่า ที่โจทก์ขอเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์จากการใช้ส่วนบุคคลเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์ตามใบสลักหลังเอาประกันภัยรถยนต์นั้น จำเลยเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีความเสี่ยงภัยมากกว่าการใช้ส่วนบุคคล ซึ่งในใบสลักหลังเอาประกันภัยรถยนต์ มีข้อความระบุว่า 1. ให้ยกเลิกรายการใช้รถยนต์เดิม และใช้รถยนต์ตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายนี้แทน 2. ให้ปรับเบี้ยประกันภัยให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายนี้ การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลบังคับเฉพาะต่อรถยนต์ที่ระบุไว้ข้างต้น เงื่อนไขและสัญญาประกันภัยข้ออื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผลบังคับของเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงยังเป็นเช่นเดิม เพียงแต่การใช้รถยนต์ตามที่ระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัยเปลี่ยนแปลงจากการใช้ส่วนบุคคลเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์ หากเกิดความเสียหายต่อรถยนต์ เช่น รถยนต์เกิดอุบัติเหตุในขณะนำรถไปใช้เพื่อการพาณิชย์ จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อรถยนต์ให้แก่โจทก์ ส่วนเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีรถยนต์สูญหายยังต้องเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัยในหมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ที่ระบุการยกเว้นความรับผิดของจำเลย ตามข้อ 5.1 ว่า ยกเว้นไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเงื่อนไขความคุ้มครองในหมวดนี้ยังคงมีผลบังคับโดยหาได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์จากการใช้ส่วนบุคคลเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์แต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์เบิกความเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ว่า โจทก์ให้นายปิยะเป็นตัวแทนนำรถยนต์ออกให้บุคคลภายนอกเช่า สอดคล้องกับที่นายปิยะเบิกความว่า เมื่อประมาณวันที่ 15 กันยายน 2548 โจทก์นำรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ ป้ายแดง ยังไม่มีหมายเลขทะเบียน มาร่วมธุรกิจเพื่อให้พยานนำรถยนต์คันดังกล่าวออกให้เช่า โดยนายปิยะยังตอบคำถามค้านด้วยว่า โจทก์จะได้รับผลประโยชน์กรณีลูกค้าเช่ารถยนต์ร้อยละ 80 จึงรับฟังได้ว่า โจทก์กับนายปิยะมีผลประโยชน์ร่วมกันในการนำรถยนต์ออกให้เช่า เหตุที่รถยนต์สูญหายไปนั้น เนื่องมาจากเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 นายปิยะให้นางศุภิสราเช่ารถยนต์คันดังกล่าวไป โดยมีกำหนดเวลาเช่า 3 วัน ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2548 แต่นางศุภิสราไม่นำรถยนต์มาส่งคืน การที่โจทก์ยินยอมให้นายปิยะนำรถยนต์ออกให้เช่า โดยโจทก์กับนายปิยะมีข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์จากค่าเช่ารถยนต์ที่ได้รับ เช่นนี้ โจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองรถยนต์เพื่อนำออกให้เช่าผ่านนายปิยะ เมื่อนางศุภิสราทำสัญญาเช่ารถยนต์กับนายปิยะซึ่งเป็นบุคคลที่โจทก์มอบหมาย ก็เท่ากับโจทก์มอบการครอบครองรถยนต์แก่นางศุภิสราโดยการดำเนินการของนายปิยะนั่นเอง เหตุที่รถยนต์สูญหายมาจากการที่นางศุภิสรา ผู้เช่า ไม่ส่งคืนรถยนต์ จึงเป็นการยักยอกทรัพย์โดยบุคคลที่ครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า ย่อมเข้าเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดตามข้อ 5.1 ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ