โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางวิมลรัตน์นายจงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทเลินเล่อชนรถที่นางวิมลรัตน์โดยสารมาและนางวิมลรัตน์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของนายจงจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกัน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อ ค่าสินไหมทดแทนไม่ถึงจำนวนตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้เอารถยนต์ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดอยู่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ แทนจำเลยที่ 1 เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์ที่นางวิมลรัตน์โดยสารมา หากศาลให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำเลยที่ 2 ก็รับผิดไม่เกิน 10,000 บาท ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายบางส่วนให้โจทก์ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 ต่อไป โจทก์และจำเลยที่ 2 รับข้อเท็จจริงกันว่าการกระทำละเมิดคดีนี้เป็นความประมาทเลินเล่อของคนขับรถยนต์จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไว้จริง ค่าเสียหายของโจทก์จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้วคงเหลือค่าเสียหายอีก 10,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 2 ท้ากันให้ศาลวินิจฉัยโดยไม่ต้องสืบพยานว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ 10,000 บาทหรือไม่ หากศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ยอมแพ้ หากศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด โจทก์ยอมแพ้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันคือนายบุญชัย ผู้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยคือนายบุญชัย เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบในวินาศภัยคดีนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์จึงต้องแพ้ตามคำท้า พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ ท้ายคำให้การจำเลยที่ 1 มีว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 มี 8 คนรวมทั้งนายบุญชัย นายบุญชัยมีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในกรมธรรม์แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ และแพ้คดีไปตามคำท้า พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถยนต์ที่ก่อให้เกิดวินาศภัยในคดีนี้เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งนายบุญชัยเอาไปประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์เป็นเงิน 10,000 บาท ต่อ 1 คน การตายของนางวิมลรัตน์ ทำให้โจทก์เสียหาย 20,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว 10,000 บาทคงเหลือค่าเสียหายอีก 10,000 บาท
ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 10,000 บาทให้โจทก์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคแรกบัญญัติว่า "อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ" ผู้เอาประกันภัยค้ำจุนในคดีนี้คือนายบุญชัย นายบุญชัยเอารถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปประกันภัยค้ำจุนได้อย่างไรในเมื่อตนไม่ใช่เจ้าของรถยนต์เพราะมาตรา 863 บัญญัติว่า "อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด" จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกฟ้องให้รับผิดร่วมกันเพราะมีประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ตามหนังสือรับรองของสำนักงานห้างหุ้นส่วนบริษัทฯ ท้ายคำให้การ ห้างจำเลยที่ 1 มีหุ้นส่วนทั้งหมด 8 คน รวมทั้งนายบุญชัยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและถือหุ้นมากที่สุด ในสัญญาประกันภัยก็ลงที่อยู่ของนายบุญชัยที่เดียวกับที่ตั้งของห้างจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 รับว่าได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไว้จริง จึงน่าเชื่อว่านายบุญชัยเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 โดยไม่เปิดเผยชื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 ให้การว่า รถยนต์ของจำเลยที่ 1 ได้เอาประกันไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 ในผลละเมิด จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมิได้เปิดเผยชื่อกลับแสดงตนให้ปรากฏและรับเอาสัญญาประกันภัยค้ำจุนซึ่งนายบุญชัยตัวแทนได้ทำไว้แทนตนตามมาตรา 806 เมื่อจำเลยที่ 2 แถลงรับว่าได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไว้จริง โดยมิได้อ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่คู่สัญญา จึงเป็นการยอมรับตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอารถยนต์ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายบุญชัยทำสัญญาประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัย และต้องแพ้คดีตามคำท้า และที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงในคำให้การของจำเลยที่ 1 มาวินิจฉัยนั้นก็เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยความรับผิดตามสัญญาประกันภัยที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ท้ากันจึงมิใช่วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นที่สละแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 แถลงรับว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไว้จริง ศาลอุทธรณ์ย่อมยกมาประกอบการวินิจฉัยได้
พิพากษายืน