ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เครื่องหมายการค้าต่างกันชัดเจน ไม่ทำให้สาธารณชนสับสน ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เครื่องหมายหนึ่งคือ "CK" อ่านว่า "ซีเค" ส่วนอีกเครื่องหมายหนึ่งคือ "CK Calvin Klein" โดยคำว่า "CK" กับ "Calvin Klein" วางทับซ้อนกันรวมเป็นอักษร 13 ตัว อ่านแยกกันเป็น "ซีเค" และ "คาลวินไคลน์" ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมัน คือ ในส่วนคำสำคัญคือคำว่า "CCKK" นั้น มีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์ โดยอักษรตัวแรกคือ ตัว C และ อักษรตัวที่ 3 คือตัว K มีขนาดเท่ากัน อักษรตัวที่สองคือตัว C และอักษรตัวสุดท้ายคือตัว K มีขนาดใหญ่กว่า รวมเป็นตัวอักษร 4 ตัววางเรียงกัน แม้ตัวอักษรตัวที่ 2 คือตัว C และอักษรตัวที่ 4 คือ ตัว K จะมีขนาดใหญ่กว่าอักษรอีก 2 ตัว แต่ก็เห็นได้ชัดว่าระหว่างตัว C และ K ที่ขนาดใหญ่ขึ้นนั้นมีอักษรตัว K อีกตัวหนึ่งคั่นอยู่ จึงอ่านได้ว่า "ซี ซี เค เค" มิใช่ "ซีเค" อย่างของโจทก์แต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยกับของโจทก์ดังกล่าวมีรูปลักษณะตัวอักษร การวางตัวอักษร จำนวนตัวอักษร และเสียงเรียกขานที่แตกต่างกันจนสังเกตได้ชัดเจน ถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงขนาดนับได้ว่าทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของและแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ และไม่ปรากฏว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามรับจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8(10) และ (11) การที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ห้ามจำเลยใช้หรือขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้