โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 90, 91, 264, 265, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 99/141 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากัน และเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/79, 555/80 และ 555/81 โครงการ บ. ต่อมาโจทก์ร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ม. ให้เข้ามาตรวจสอบการก่อสร้าง ต่อเติม ดัดแปลงอาคารของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนนทบุรีว่า สถานประกอบกิจการตัดเย็บและผลิตเสื้อผ้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 สร้างความเดือดร้อนรำคาญ เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล ม. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนนทบุรี เข้าไปตรวจที่อาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และทำบันทึกการตรวจสอบไว้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบล ม. ให้เข้าไปตรวจสอบอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/79, 555/80 และ 555/81 ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเจ้าพนักงานก็เข้าไปตรวจสอบอาคารเลขที่ดังกล่าวตามคำร้องเรียน แม้บันทึกการตรวจสอบโรงงาน และแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงาน ระบุว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 แต่บ้านเลขที่ดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ร้องเรียน และโจทก์ไม่มีหลักฐานว่าได้ร้องเรียนให้เข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 และไม่ได้นำเจ้าของบ้านหลังดังกล่าวมาเบิกความว่ามีการเข้าไปตรวจสอบที่บ้านเลขที่ 555/75 ด้วย เมื่อนายอภินันท์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่าไม่ได้เข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 แต่อย่างใด และตามบันทึกการตรวจสอบโรงงาน และแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงาน ระบุตรวจสอบพบว่าโรงงานประกอบกิจการตัดเย็บและปักเสื้อผ้า ซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และการประกอบกิจการมีเสียงดังรบกวนตามที่โจทก์ร้องเรียน การลงข้อความระบุว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 จึงน่าจะเกิดจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง การแก้ไขข้อความจากเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 เป็นบ้านเลขที่ 555/79 ในภายหลัง จึงเป็นการแก้ไขให้ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบอาคารตามความจริง ซึ่งความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 จะต้องกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย เมื่อโจทก์ฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล ม. และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ม. ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้แก้ไขคำสั่งหรือให้ยกเลิกคำสั่งเดิม แล้วออกคำสั่งใหม่ให้รื้อถอนอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/79, 555/80 และ 555/81 ส่วนที่ก่อสร้างต่อเติม โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/75 ด้วย การแก้ไขข้อความว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/79 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องว่าประกอบกิจการมีเสียงดังรบกวน กลับเป็นประโยชน์แก่โจทก์ การแก้ไขข้อความในเอกสารจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชน จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เมื่อนำไปใช้จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม พยานโจทก์ที่นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน