ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิฟ้องคดีแรงงานและการยกเว้นการระบุอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้าง การอุทธรณ์ประเด็นใหม่หลังศาลชั้นต้น
สัญญาจ้างแรงงานไม่ได้ระบุไว้อย่างแจ้งชัดว่า ในกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจะต้องนำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเสียก่อนแต่อย่างใด ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานจึงมีลักษณะเป็นการให้สิทธิแก่คู่สัญญาว่า ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานแล้ว คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจใช้สิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานของประเทศไทย เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้นๆ หรือคู่สัญญาอาจตกลงกันนำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดก็ได้ การที่โจทก์นำข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิจะฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางโดยชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเป็นฝ่ายเลิกจ้างโจทก์หรือโจทก์ลาออกจากงาน ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไปทำงานที่สำนักงานร่วมทุนที่ประเทศสิงคโปร์มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน โดยโจทก์เรียกเงินเดือนในอัตราใหม่ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนอัตราเดิมมาก แสดงว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงยกเลิกความผูกพันตามสัญญาจ้างเดิมและเจรจาตกลงเงื่อนไขสภาพการจ้างใหม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางและมิได้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31