โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 16,375,723 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 15,981,655 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. นางสาวธัญยาลักษณ์ และบริษัท ว. เข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โดยเรียกว่าจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ
จำเลยร่วมทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 15,981,655 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ต้องนำเงินที่จำเลยที่ 3 วางเงินชำระให้แก่โจทก์ในนามของจำเลยในวันที่ 5 กันยายน 2562 หักออก โดยให้หักชำระดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือให้หักชำระต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยตามอัตราข้างต้นจากต้นเงินที่ค้างชำระในวันที่ 6 กันยายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 100,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 15,981,655 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยร่วมที่ 3 วางชำระให้แก่โจทก์ในนามของจำเลยเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 หักออก โดยให้หักชำระดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือให้หักชำระต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยตามอัตราข้างต้นจากต้นเงินที่ค้างชำระในวันที่ 6 กันยายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 3 ให้จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 3 และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิต ส่งออก จำหน่ายผลไม้ การรับจ้างแปรรูปอาหาร รับทำการเก็บรักษาสินค้าในห้องเย็น จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร จำเลยร่วมที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการให้บริการขนส่ง มีจำเลยร่วมที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยร่วมที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจประกันภัย โจทก์สั่งซื้อเครื่องแช่เยือกแข็งจากบริษัทผู้ผลิตที่ราชอาณาจักรสวีเดน จำเลยรับขนส่งสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยว่าจ้างจำเลยร่วมที่ 1 ขนสินค้าของโจทก์ดังกล่าวจากท่าเรือกรุงเทพเพื่อนำส่งให้โจทก์ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจำเลยร่วมที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยการขนส่งของจำเลยร่วมที่ 1 ระหว่างที่มีการขนส่งปรากฏว่ารถบรรทุก ได้ชนครูดกับสะพานทางด่วนบริเวณทางออกท่าเรือกรุงเทพ ทำให้เครื่องแช่เยือกแข็งได้รับความเสียหาย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยร่วมทั้งสามต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.961/2561 ให้รับผิดตามสัญญาขนส่ง ละเมิด ประกันภัย คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 3 โจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมที่ 3 ไม่ได้โต้แย้งในปัญหานี้ในชั้นฎีกา คดีระหว่างโจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมที่ 3 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ข้อแรกว่า คำร้องของจำเลยที่ให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ พ.961/2561 ของศาลแพ่งหรือไม่ เห็นว่า คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน หากตนเองต้องแพ้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) นั้น ไม่ใช่คำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยและให้เข้าร่วมรับผิดกับจำเลยต่อโจทก์ด้วยเท่านั้น จำเลยไม่ได้ขอให้บังคับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่จำเลยแต่อย่างใด ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2548 ที่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 นำมาอ้างนั้นเป็นเรื่องบุคคลภายนอกร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาในคดีไม่เป็นฟ้องซ้อนนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ข้อต่อไปมีว่า คำร้องของจำเลยที่ให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายของสินค้าที่ส่งต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ส่วนจำเลยร่วมที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมที่ 1 ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 คำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาในคดีเป็นการใช้สิทธิของจำเลยเพื่อไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 มิใช่เป็นคำฟ้องของโจทก์ จึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยระหว่างลูกหนี้ร่วมซึ่งเป็นขนส่งหลายคนหลายทอดด้วยกันนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องของจำเลยที่ให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 15,981,655 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เนื่องจากได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยในมาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความเดิมในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามลำดับ และให้ใช้ความใหม่แทนเป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มเติมร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดใช้บังคับในวันที่ 11 เมษายน 2564 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ไปจนกว่าจำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลย จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 15,981,655 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้เปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ โดยให้นำเงินที่จำเลยร่วมที่ 3 วางชำระให้แก่โจทก์ในนามของจำเลยเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 หักออก โดยให้หักชำระดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือให้หักชำระต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยตามอัตราข้างต้นจากต้นเงินที่ค้างชำระในวันที่ 6 กันยายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ