โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี เพื่อชำระหนี้ให้แก่นายสมชัยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ย.851/2551 ของศาลชั้นต้น โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดแทนจำเลย กับให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4984 และมีหนังสือถอนการยึดที่ดินดังกล่าวถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางบัวทอง โดยให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึด พร้อมกับให้จำเลยนำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์หรือผู้ที่โจทก์โอนสิทธิให้ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางบัวทอง โดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการโอน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ให้จำเลยใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 112,663,746 บาท แก่โจทก์ และหากจำเลยไม่นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์ ให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนและจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ต่อไป กับให้จำเลยใช้เงินค่าปรับ 30,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความอ้างว่า ผู้ร้องสอดเป็นตัวการผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4984 โดยให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรคนโตเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ผู้ร้องสอดเป็นผู้เก็บโฉนดที่ดินดังกล่าว โจทก์และจำเลยสมยอมกันทำสัญญาตามฟ้องเพื่อฉ้อฉลไม่ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนแก่ผู้ร้องสอด อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องสอดมีความประสงค์ขอเข้าเป็นคู่ความเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ยื่นคำแก้ (ที่ถูก คำให้การแก้) คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด
จำเลยยื่นคำคัดค้าน (ที่ถูก คำให้การ) แก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) แล้วมีคำสั่งใหม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 19,380,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,000,000 บาท นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก และยกคำร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดให้เป็นพับ
โจทก์และผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,380,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยไปดำเนินการติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรีเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายสมชัย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ย.851/2551 ของศาลชั้นต้น โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดแทนจำเลย พร้อมชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4984 แล้วให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการโอน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากโจทก์ชำระหนี้ให้แก่นายสมชัยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ย.851/2551 ของศาลชั้นต้น พร้อมชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4984 แล้ว จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 75,000,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นบุตรคนโตของนายฟัก ซึ่งเป็นคนต่างด้าว กับผู้ร้องสอด ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4984 เนื้อที่ 53 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2531 แล้วมีชื่อจำเลยเป็นผู้จดทะเบียนจำนอง ขึ้นเงินจำนอง และไถ่ถอนจำนองตลอดมา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 14,220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายสมชัย ผู้เป็นโจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 26 มีนาคม 2550) ต้องไม่เกิน 17,045,040 บาท วันที่ 3 มีนาคม 2552 เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรียึดที่ดินพิพาท แล้วมีการประกาศขายทอดตลาด วันที่ 14 มกราคม 2559 โจทก์และจำเลยทำสัญญากันว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ระหว่างขอออกใบแทนและถูกนายสมชัยยึดตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ย.851/2551 ของศาลชั้นต้น จำเลยต้องการนำที่ดินพิพาทไปจัดสรร และขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่นเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่นายสมชัย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แต่จำเลยขาดเงินทุนดำเนินการจึงขอให้โจทก์ช่วยออกค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 17,000,000 บาท ในวันทำสัญญา โจทก์จ่ายเงิน 17,000,000 บาท ให้แก่จำเลยเพื่อนำไปชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 5,000,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพัฒนาจัดสรรที่ดินพิพาท และขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยได้รับเงินครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาเป็นแคชเชียร์เช็คตามสำเนาท้ายสัญญา จำเลยสัญญาว่าจะชำระเงิน 17,000,000 บาท พร้อมเงินค่าตอบแทนอีก 10,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,000,000 บาท แก่โจทก์ ภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญา ถ้าจำเลยจะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองหรือขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและโจทก์ จำเลยจะต้องชำระเงิน 27,000,000 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมกันในวันจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและต้องชำระให้เสร็จภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา ก่อนชำระเงินให้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยจะไม่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนในที่ดินพิพาทโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบและให้ความยินยอมเป็นอันขาด และจำเลยจะต้องแจ้งและนัดหมายโจทก์ให้มารับเงินจำนวนดังกล่าวด้วยตนเองในวันที่มีการจดทะเบียนทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ถ้าจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และไม่สามารถนำเงิน 27,000,000 บาท มาชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาข้างต้น จำเลยตกลงยินยอมไปดำเนินการติดต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทันที โดยให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวทั้งหมดแทนจำเลย และจำเลยยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองและพัฒนาที่ดินพิพาทได้ทันที โดยให้หักกลบลบหนี้เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยกับราคาที่ดินพิพาทที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ และจำเลยจะไม่เรียกร้องเงินหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ จากโจทก์อีก แต่โจทก์จะเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการโอนกรรมสิทธิ์กับการถอนการยึดที่ดินพิพาท โจทก์มีสิทธิโอนสิทธิตามสัญญาให้แก่บุคคลใดก็ได้ โดยแจ้งให้จำเลยทราบ นับแต่วันทำสัญญา จำเลยจะไม่ทำให้ที่ดินพิพาทมีภาระติดพันเพิ่มขึ้นและจะไม่กระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินพิพาท หากจำเลยผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดถือว่าผิดสัญญาทั้งหมด จำเลยจะต้องถูกฟ้องบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา และจำเลยจะต้องเสียค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 30,000,000 บาท โจทก์จ่ายเงิน 17,000,000 บาท ให้แก่จำเลยเป็นแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สำนักพระรามที่ 3 สั่งจ่ายเงิน 5,000,000 บาทแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด สั่งจ่ายเงิน 6,000,000 บาท แก่จำเลย แคชเชียร์เช็คของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางใหญ่ สั่งจ่ายเงิน 1,200,000 บาทแก่จำเลย แคชเชียร์เช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุรวงศ์ สั่งจ่ายเงิน 2,800,000 บาท แก่จำเลย และเงินสดอีก 2,000,000 บาท วันที่ 12 มิถุนายน 2559 จำเลยทำบันทึกข้อตกลงกับผู้ร้องสอด นางสาวกุหลาบ และนางสาวสลิตา ระบุว่าจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องสอด หากมีการขายที่ดินพิพาทต้องได้รับความเห็นชอบจากนางสาวกุหลาบและนางสาวสลิตาแล้วแบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร้อยละ 30 และร้อยละ 20 ตามลำดับ นางสาวกุหลาบ ร้อยละ 40 นางสาวสลิตา ร้อยละ 10 ในฐานะผู้รับมอบหมายจากผู้ร้องสอด เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ให้ทนายความของโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย และคดีในส่วนของผู้ร้องสอดยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยที่ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 บัญญัติว่า "ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรืออักษร" แม้สัญญาพิพาทใช้ชื่อว่า "หนังสือสัญญาข้อตกลงเรื่องที่ดินและสัญญาต่างตอบแทน" แต่การตีความเจตนาของคู่สัญญาที่ต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญานั้นต้องพิจารณาข้อความทั้งหมดที่ระบุไว้ในสัญญา ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะข้อความตอนใดตอนหนึ่งเท่านั้น ตามหนังสือสัญญาดังกล่าวระบุว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ระหว่างขอออกใบแทนและถูกนายสมชัยยึดตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ย.851/2551 ของศาลชั้นต้น จำเลยต้องการนำที่ดินพิพาทไปจัดสรรและขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่นเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่นายสมชัยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แต่จำเลยขาดเงินทุนดำเนินการ จำเลยจึงขอให้โจทก์ช่วยออกค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 17,000,000 บาท ในวันทำสัญญา โจทก์จ่ายเงิน 17,000,000 บาท ให้แก่จำเลยเพื่อนำไปชำระหนี้ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์มอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อไปดำเนินการพัฒนาจัดสรรที่ดินพิพาทเป็นการร่วมกับจำเลยด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการดังกล่าว จึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 แต่มีลักษณะเป็นกรณีที่โจทก์ส่งมอบเงินให้แก่จำเลย และจำเลยตกลงว่าจะชำระหนี้คืนพร้อมผลตอบแทนอีก 10,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญา แต่ถ้าจำเลยจดทะเบียนจำนองหรือขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและโจทก์ได้ก่อนกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยต้องแจ้งและนัดหมายให้โจทก์ไปรับเงินด้วยตนเองในวันที่มีการจดทะเบียนจำนองหรือขายที่ดินพิพาท ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาที่โจทก์ส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยและจำเลยสัญญาว่าจะคืนเงินพร้อมผลตอบแทนภายในเวลาที่กำหนดให้แก่โจทก์ โดยที่โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดสรรที่ดินพิพาทของจำเลยหรือมุ่งประสงค์จะได้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่แรก อีกทั้งไม่มีข้อตกลงกำหนดหน้าที่ให้จำเลยต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนการที่โจทก์มอบเงินให้แก่จำเลย คงมีข้อตกลงเพียงว่า ให้จำเลยขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่น นอกจากนำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วต้องนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ด้วย ซึ่งเป็นข้อสัญญาที่กำหนดวิธีการคืนเงินให้แก่โจทก์เท่านั้น แม้โจทก์และจำเลยตกลงกันให้จำเลยนำเงิน 5,000,000 บาท ไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และเงินส่วนที่เหลืออีก 12,000,000 บาท ให้จำเลยนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพัฒนาจัดสรรที่ดินพิพาท และขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เป็นเพียงข้อตกลงเพื่อให้โจทก์ส่งมอบเงินให้แก่จำเลยตามวัตถุประสงค์ในการใช้เงินเท่านั้น ส่วนที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ก่อนชำระเงินให้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยจะไม่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนในที่ดินพิพาทโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบและให้ความยินยอมเป็นอันขาด และนับแต่วันทำสัญญาจำเลยจะไม่ทำให้ที่ดินพิพาทมีภาระติดพันเพิ่มขึ้นและจะไม่กระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินพิพาท เป็นข้อตกลงที่โจทก์มุ่งประสงค์ไม่ให้จำเลยก่อภาระผูกพันแก่ที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทในกรณีที่จำเลยผิดสัญญา และโจทก์ใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดี ไม่ใช่ข้อตกลงให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทน แม้สัญญาพิพาทใช้ชื่อว่า หนังสือสัญญาข้อตกลงเรื่องที่ดินและสัญญาต่างตอบแทน แต่เจตนาของคู่สัญญาเป็นเรื่องที่โจทก์ให้กู้ยืมเงินแก่จำเลยแล้วให้จำเลยคืนเงินพร้อมผลตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนดแก่โจทก์ เป็นสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่นิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินดังที่จำเลยฎีกา หรือสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ยืมเงินธรรมดา ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ส่วนที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ถ้าจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และไม่สามารถนำเงิน 27,000,000 บาท มาชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาข้างต้น จำเลยตกลงยินยอมไปดำเนินการติดต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทันทีนั้น เป็นข้อตกลงที่โจทก์ผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม โดยมีข้อตกลงว่า ในการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์นั้น ให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวทั้งหมดแทนจำเลย และจำเลยยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองและพัฒนาที่ดินพิพาทได้ทันที โดยให้หักกลบลบหนี้เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยกับราคาที่ดินพิพาทที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ และจำเลยจะไม่เรียกร้องเงินหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ จากโจทก์อีก แต่โจทก์จะเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการโอนกรรมสิทธิ์กับการถอนการยึดที่ดินพิพาท โจทก์มีสิทธิโอนสิทธิตามสัญญาให้แก่บุคคลใดก็ได้ โดยแจ้งให้จำเลยทราบ ซึ่งข้อตกลงที่โจทก์ยอมรับที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแทนการชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวโดยคำนึงถึงจำนวนหนี้ที่โจทก์จะชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและหนี้เงินกู้ยืมเป็นสำคัญ แต่ไม่ได้คำนึงว่าจำนวนหนี้ดังกล่าวเท่ากับราคาท้องตลาดของที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ยอมรับเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมนั้นในเวลาและสถานที่ที่มีการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี เพื่อชำระหนี้ให้แก่นายสมชัยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ย.851/2551 ของศาลชั้นต้น โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดแทนจำเลย กับให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4984 และมีหนังสือถอนการยึดที่ดินดังกล่าวถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางบัวทอง โดยให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึด แล้วให้จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์หรือผู้ที่โจทก์โอนสิทธิได้ ส่วนหนี้เงินกู้ยืมนั้น โจทก์ตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงิน 17,000,000 บาท มีกำหนดเวลาชำระหนี้คืนภายใน 6 เดือน โดยคิดค่าตอบแทนเป็นเงิน 10,000,000 บาท คิดเป็นดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ผลตอบแทนดังกล่าวซึ่งเป็นดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 โจทก์คงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ในส่วนเบี้ยปรับนั้น จำเลยตกลงกับโจทก์ว่า หากจำเลยผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดถือว่าผิดสัญญาทั้งหมด จำเลยจะต้องถูกฟ้องบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา และจำเลยจะต้องเสียค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเบี้ยปรับเป็นเงิน 2,380,000 บาทแก่โจทก์ และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวด้วย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แม้จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยไม่ได้โต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดของเบี้ยปรับดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของเบี้ยปรับ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของเบี้ยปรับจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นมา โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ แล้วให้ใช้ความใหม่แทน โดยความใหม่บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 คือ ร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราที่ปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ บัญญัติให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ในช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและแก้ไขให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 17,000,000 บาท นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันฟ้องถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่จะปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,380,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์และพิพากษาให้จำเลยไปดำเนินการติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรีเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายสมชัย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ย.851/2551 ของศาลชั้นต้น โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดแทนจำเลย พร้อมชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4984 แล้วให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการโอน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากโจทก์ชำระหนี้ให้แก่นายสมชัยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ย.851/2551 ของศาลชั้นต้น พร้อมชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4984 แล้ว จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 75,000,000 บาท แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 19,380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 17,000,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 สิงหาคม 2559) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่จะปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) บวกเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 40,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์และผู้ร้องสอดให้เป็นพับ เฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้โจทก์ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่จำเลยชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น