จำเลยเป็นเสมียนด่านศุลกากรถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต ยักยอกทรัพย์ขอทางราชการด่านศุลกากร ขอให้ลงโทษ และใช้ทรัพย์แก่ด่านศุลกากร คดีอยู่ระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งว่าผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินแก่โจทก์จำเลยให้การรับตามฟ้อง ไม่ต่อสู้คดี กรมศุลกากรจึงยื่นคำร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความ โดยอ้างว่า โจทก์จำเลยไม่ได้ซื้อขายกันจริง แต่สมยอมกันโดยทุจริต ทำกลฉ้อฉลเพื่อให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ เพราะจำเลยมีทรัพย์เพียงที่ดินรายนี้ อย่างเดียวเท่านั้น ขอให้พิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนการฉ้อฉลเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินรายนี้
ศาลจังหวัดเลยสั่งว่า ผู้ร้องยังไม่มีความจำเป็นที่จะขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีร้องสอดในคดีนี้ ให้ผู้ร้อง ไปฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งภายในอายุความ
ในวันเดียวกันนั้น ผู้ร้องได้ร้องต่อศาลขอเลื่อนการพิจารณาคดี เพื่อที่ศาลได้พิพากษาไปตามยอมความ คือ ให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในคดีอาญาซึ่งขอให้จำเลยใช้ทรัพย์นั้น ยังอยู่ระหว่างพิจารณา เป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอน และไม่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทคดีนี้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะร้องสอด ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๑) พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย โดยที่ประชุมใหญ่ว่า แม้คดีอาญายังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล ผู้ร้องก็มีสิทธิในอันที่จะให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ได้ คือ เพื่อให้ได้รับชำรับหนี้ ไม่ให้จำเลยโอนทรัพย์ไปเสีย อันจะเป็นการให้ลำบากแก่การติดตามเอาต่อไป กรณีต้องด้วยประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๑)ผู้ร้องมีสิทธิร้องสอดได้โดยไม่จำต้องรอจนกว่า จะมีคำพิพากษาในคดีอาญา และเมื่อกรณีเข้ามาตรา ๕๗ (๑) แล้ว ศาลก็ชอบที่จะรับคำร้องสอดส่วนหนี้ เป็นจำนวนแน่นอนหรือไม่นั้น มาตรา ๕๗ (๑) หาได้กำหนดห้ามไว้ไม่ จึงพิพากษาให้ศาลต้นรับคำร้องสอดไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และพิพากษาใหม่