โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 54, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันพยายามมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับนั้น เนื่องจากศาลมิได้ลงโทษปรับจึงให้ยกคำขอส่วนนี้ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันพยายามมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี 3 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 3 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) แต่การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาจึงต้องยกฟ้องของโจทก์โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง