โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 89465 ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ 99 ตารางวา กว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 65 เมตร และที่ดินโฉนดเลขที่ 171734 ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ทั้งแปลง เนื้อที่ 28 ตารางวา เป็นทางจำเป็นในการใช้เป็นทางเดินทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 183818 ถึง 183822 ของโจทก์ และให้จำเลยทั้งเจ็ดจดทะเบียนเป็นทางจำเป็นให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 183818 ถึง 183822 หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเจ็ด
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 คนละ 140,000 บาท รวม 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 4และที่ 5
จำเลยที่ 6 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 4 และที่ 5 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 89465 กว้างประมาณ 6 เมตร ยาว 65 เมตร และที่ดินโฉนดเลขที่ 171734 กว้าง 3 เมตร ยาว 38 เมตร เป็นทางจำเป็นในการใช้เป็นทางเดิน ทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 183818 ถึง 183822 ของโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 30,000 บาท ต่อปี และใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นเงิน 20,000 บาท ต่อปี ตามส่วนของจำเลยทั้งเจ็ดที่มีในทรัพย์สินนั้นนับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางจำเป็นไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทาง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งเจ็ดให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 183818 ถึง 183822 ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันเนื้อที่รวม 100 ตารางวา และถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 89465 เนื้อที่ 2 งาน 4 ตารางวา จำเลยที่ 3 และนางอรพินท์ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 171734 เนื้อที่ 28 ตารางวา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2560 นางอรพินท์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นทายาทโดยธรรมของนางอรพินท์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 89465 เนื้อที่ 99 ตารางวา กว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 65 เมตร ภายในกรอบสีเขียวและที่ดินโฉนดเลขที่ 171734 เนื้อที่ 28 ตารางวา กว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 38 เมตร ภายในกรอบสีเหลืองเป็นถนนหินคลุกเชื่อมต่อกับถนนสาธารณประโยชน์ออกไปสู่ถนนแจ้งวัฒนะ และเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนในการใช้ทางจำเป็นสูงเกินควรโดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอให้พิพากษาว่า ทางในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การต่อสู้ว่า ทางในที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่ทางจำเป็น หากศาลฟังว่าเป็นทางจำเป็น โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนในการใช้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การยอมรับว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางในที่ดินมรดกของจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นทางออกถึงทางสาธารณะ แม้จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนในการใช้ที่ดินจากโจทก์มาด้วย แต่การที่จะบังคับให้ใช้ค่าทดแทนแก่กันหรือไม่และเป็นจำนวนเพียงใดนั้น ต้องวินิจฉัยก่อนว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ปัญหาเรื่องการใช้ค่าทดแทนเป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นอันเป็นประเด็นสำคัญในคดี คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ทั้งค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปีละ 30,000 บาท และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ปีละ 20,000 บาท ตามส่วนของจำเลยทั้งเจ็ดที่มีในทรัพย์สินนั้นนับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางจำเป็นไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทางนั้นจำนวนเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะต้องใช้แก่จำเลยทั้งเจ็ดจึงขึ้นอยู่กับการใช้ทางจำเป็นของโจทก์ว่าเริ่มต้นเมื่อใดและสิ้นสุดลงเมื่อใด ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตย่อมไม่อาจคำนวณค่าทดแทนเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ว่าประเด็นเรื่องทางจำเป็นจะยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงโต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าทดแทนที่โจทก์จะต้องใช้แก่จำเลยทั้งเจ็ดว่ามีจำนวนเพียงใด ก็ไม่ทำให้คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้กลับกลายเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ค่าทดแทนของจำเลยทั้งเจ็ดมีเพียงใด ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัย เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก่อน เห็นว่า ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 89465 ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเนื้อที่ 99 ตารางวา กว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 65 เมตร ภายในกรอบสีเขียว และทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 171734 ของจำเลยที่ 3และนางอรพินท์มีเนื้อที่ 28 ตารางวา กว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 38 เมตร ภายในกรอบสีเหลือง เจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งแยกไว้เป็นทางเข้าออกและปัจจุบันมีสภาพเป็นถนนหินคลุกเพื่อใช้ในการสัญจรเชื่อมต่อกับถนนสาธารณประโยชน์ออกไปสู่ถนนแจ้งวัฒนะอยู่แล้ว ประกอบกับที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์มีเนื้อที่เพียง 100 ตารางวา ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปีละ 30,000 บาท และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ปีละ 20,000 บาท จึงสูงเกินสมควร เห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปีละ 18,000 บาท และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ปีละ 12,000 บาท แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขอให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนเป็นเงินคนละ 140,000 บาท ซึ่งเป็นค่าทดแทนจำนวนเดียว มิใช่ค่าทดแทนเป็นรายปีก็ตาม แต่ค่าทดแทนที่กำหนดให้ดังกล่าวก็เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ใช้ทางจำเป็น ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสี่ บัญญัติให้กำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้ ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้เป็นรายปีนับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางจำเป็นจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทาง หาใช่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ส่วนที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 แก้ฎีกาว่า หากศาลวินิจฉัยแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าคดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ก็ให้สั่งคืนค่าขึ้นศาลที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 เสียมาตามที่ฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นด้วยนั้น เห็นว่า การเสียค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 และที่ 5 นั้น เป็นคนละส่วนกับฟ้องของโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษาให้ค่าทดแทนตามที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขอมาในฟ้องแย้ง แต่เป็นการที่ศาลชั้นต้นใช้อำนาจกำหนดค่าทดแทนเอง แม้ไม่มีคู่ความขอมา ซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์ในส่วนฟ้องแย้ง คดีในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาจึงต้องพิจารณาเฉพาะในส่วนฟ้องของโจทก์เท่านั้น ส่วนทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งคงมีเฉพาะในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฟ้องแย้งขอให้ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 คนละ 140,000 บาท ซึ่งเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่อาจคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปีละ 18,000 บาท และใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ปีละ 12,000 บาท ตามส่วนของจำเลยทั้งเจ็ดที่มีในทรัพย์สินนั้นนับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางจำเป็นไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ