โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 2 เป็นข้าราชการกรมสามัญศึกษา ฯ จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าแผนกคลัง จำเลยที่ 2 เป็นประจำแผนกคลัง ได้รับมอบหมายจากทางการให้เบิกจ่ายและรับรักษาเงินของรัฐบาล จำเลยสมคบกันยักยอกเงินหลายรายการตั้งแต่รายการข้อ ก. ถึงข้อ ฉ. ในวันเวลาต่าง ๆ กัน รวมเป็นเงิน 297,104.50 บาท ฯลฯ ขอให้ลงโทษ
จำเลยทั้ง 2 ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้น เห็นว่าเงินในรายการข้อ ก. ข้อ ง. นั้นปรากฏว่า จำเลยมิได้รับเงินไว้เป็นแต่ได้รับหลักฐานเป็นหนังสือซึ่งเป็นการเบิกหักผลักส่ง จึงไม่มีเงินที่จำเลยจะยักยอกได้ตามข้อกล่าวหาในฟ้อง และเห็นว่า รูปคดียังไม่แน่ใจว่าจำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ผู้เดียวมีเจตนาทุจริตยักยอกเงินจำนวนเพียง 27,950 บาท ไปพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131, 71 พระราชบัญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 2 เรียงกระทงความผิดให้วางโทษรวมทุกกระทงความผิดมีกำหนด 7 ปี ฯลฯ
โจทก์อุทธรณ์ว่า ใบสำคัญเบิกหักผลักส่งถือได้ว่าเป็นตัวเงินที่จำเลยยักยอก จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดด้วย
จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 อีกด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าเงินตามฟ้องข้อ ก. 5,000 บาท 8,000 บาท กับ 24,154.50 บาท และตามฟ้อง ข้อ ง. เงิน 115,000 บาท นั้น จำเลยที่ 2 มิได้รับตัวเงินไว้ เป็นแต่รับหลักฐานเป็นหนังสือซึ่งเป็นการเบิกหักผลักส่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินโดยมิได้ลงบัญชีเงินสดและมิได้จัดการนำส่งฝากธนาคาร ดังนั้น เงินตามฟ้องข้อ ก. และข้อ ข. รายที่จำเลยมิได้รับเป็นตัวเงิน จึงมิใช่เป็นการยักยอกเงิน ส่วนเงิน 27,950 บาทนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นการส่งใช้เงินที่ได้ยืมไป โจทก์ฟ้องจำเลยโดยยังมิได้มีการคิดบัญชีให้เห็นแน่นอนว่า ถ้าคิดหักกันแล้ว ไม่มีเงินของจำเลยเกี่ยวค้างอยู่ คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยยักยอก พิพากษายืน