โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นางวัลนี ดลสุจริต นายสุรชัย กาญจนพิบูลย์ นายเอกชัย วณิชย์วรนันท์ เป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งต้องรับผิดในหนี้สินของจำเลยที่ 3 โดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันประกอบกิจการประเภทรับเหมาก่อสร้างและหมู่บ้านจัดสรรเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2540 จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันซื้อถังบำบัดน้ำเสีย จำนวน 68 ใบ จากโจทก์เพื่อใช้ในโครงการบ้านพร้อมจิตร โจทก์ส่งมอบและจำเลยทั้งสี่ได้รับสินค้าถูกต้องครบถ้วนแล้ว สินค้าดังกล่าวมีราคาทั้งสิน 417,560 บาท กำหนดชำระราคาภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับสินค้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 474,974.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 417,560 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางวัลนี ดลสุจริต ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมประกอบกิจการประเภทรับเหมาก่อสร้างและหมู่บ้านจัดสรรกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์จริง แต่โจทก์ไม่ได้ส่งมอบสินค้าตามมาตรฐานและคุณภาพตามที่สั่งซื้อ จำเลยที่ 1 จึงให้เปลี่ยนสินค้า แต่โจทก์ไม่ได้นำสินค้าใหม่มาเปลี่ยนให้จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางวัลนี ดลสุจริต ฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยแทนโจทก์ เพราะหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุว่าให้ดำเนินคดีกับใคร จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่เคยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ และไม่เคยได้รับสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนแล้วก่อนโจทก์ฟ้องคดีจำเลยที่ 3 ไม่มีสภาพนิติบุคคล และจำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 474,974.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 417,560 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยต้องฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุว่าให้ดำเนินคดีแก่จำเลย คงระบุเพียงว่าให้อำนาจดำเนินคดีแพ่งว่าด้วยข้อหา หรือฐานความผิดสัญญาซื้อขายเท่านั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินคดีแพ่งว่าด้วยสัญญาซื้อขายแทนโจทก์ เป็นการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์เมื่อมีข้อโต้แย้งในเรื่องสัญญาซื้อขาย ดังนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวกับบุคคลใด ผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับมอบหมายได้โดยไม่จำต้องระบุชื่อจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ประการต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 กรรมการของจำเลยที่ 2 และหุ้นส่วนของจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลชุดเดียวกันตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรรชื่อหมู่บ้านพร้อมจิตร จำเลยที่ 2 ที่ 3 ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 1 สั่งซื้อถังบำบัดน้ำเสียตามฟ้องจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.12 ไปติดตั้งในหมู่บ้านจัดสรรของจำเลยที่ 1 โจทก์ส่งสินค้าให้เรียบร้อยแล้วตามเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.18 เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ชำระโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระ จำเลยที่ 2 เคยชำระค่าถังบำบัดน้ำเสียให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.19 ก่อนฟ้องจำเลยที่ 3 จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน แต่ยังไม่มีการชำระบัญชี เห็นว่า เอกสารหมาย จ.12 เป็นโทรสารใบสั่งซื้อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งก็ไม่ได้ระบุว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 2 เคยชำระค่าถังบำบัดน้ำเสียให้แก่โจทก์ ในการซื้อมาใช้ในหมู่บ้านจัดสรรของจำเลยที่ 1 แห่งเดียวกันนี้ตามเอกสารหมาย จ.19 ซึ่งหากจำเลยที่ 2 รับเหมาปลูกสร้างเฉพาะค่าแรงและค่าบริการ การบริหารกิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกันดังที่อ้างในฎีกาก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะใช้ใบสั่งซื้อของตน และจำเลยที่ 2 ก็เคยชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 นอกจากนี้กรรมการของจำเลยที่ 2 และหุ้นส่วนของจำเลยที่ 3 ยังเป็นบุคคลชุดเดียวกัน มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ที่เดียวกัน จำเลยที่ 4 นอกจากจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 และหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 4 ยังเป็นน้องของกรรมการของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกันจึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันประกอบธุรกิจบ้านจัดสรร จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 3 จะจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน และจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ต่อไป แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชีจำเลยที่ 3 สภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 3 ยังคงมีอยู่ต่อไปตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดในฐานะหุ้นส่วนไม่ใช่ในฐานะห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 มาตรา 1077 (2) ดังนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.