โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 6, 14, 26/4, 26/5, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นเงิน 1,278,000 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้จำเลยทั้งสี่ คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสี่ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 31 วรรคหนึ่ง (เดิม)) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 31 วรรคหนึ่ง (เดิม)) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสี่แล้วไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุก ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุเป็นเงินรวม 1,278,000 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้จำเลยทั้งสี่ คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสี่ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยทั้งสี่คนละ 30,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยทั้งสี่กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับคนละ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยทั้งสี่ไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษานี้ให้จำเลยทั้งสี่ฟัง ให้จำเลยทั้งสี่ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี กับให้จำเลยทั้งสี่กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่งประเด็นเรื่องค่าเสียหาย โดยให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยทั้งสี่ในคดีส่วนแพ่ง และพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในประเด็นดังกล่าวไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จริง ในชั้นนี้มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่ง โดยให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยทั้งสี่ในคดีส่วนแพ่งและพิจารณาพิพากษาในคดีส่วนแพ่งใหม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พร้อมทั้งขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งการพิจารณาคดีในส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 และคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งจะต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง กับต้องวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) (5) การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยยังมิได้สอบคำให้การจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ จะถือว่าจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพตามฟ้องเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งด้วยหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยทั้งสี่ในคดีส่วนแพ่งและพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่ไปตามรูปคดีจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่งและพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่ ในชั้นนี้จึงยังไม่สมควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะมีคำสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเสียใหม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่