คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามตามสัญญาจ้างทำของ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับแต่วันที่จำเลยรับเงินจนถึงวันฟ้อง ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต และเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ 600,000 บาท ชำระงวดแรกเป็นเงิน 50,000 บาท ในวันที่ 25 เมษายน 2556 และงวดที่สองชำระเงิน 100,000 บาท ภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 งวดถัดไปเป็นเงินไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ชำระภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผิดนัดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ขอศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 โดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 55124, 121713, 121790 โฉนดเลขที่ 81466 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3806, 3807 รวม 6 แปลง แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ทำการยึดให้ อ้างว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 เป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการจัดการหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงไม่ดำเนินการยึดให้
โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 3 ตกอยู่ในฐานะบุคคลล้มละลายมาตั้งแต่ปี 2552 จำเลยที่ 3 ทราบอยู่แล้วถึงฐานะการล้มละลายของตนเอง แต่ปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ ไม่แจ้งผู้ร้องและศาลชั้นต้นให้ทราบว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 กระทำการฉ้อฉลต่อผู้ร้องและต่อศาลชั้นต้น เพราะถ้าจำเลยที่ 3 แจ้งความจริงผู้ร้องคงจะไม่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีคำพิพากษาตามยอม เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมายมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความได้ทำขึ้นโดยการฉ้อฉลของจำเลยที่ 3 และฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คือพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 เท่ากับว่าคำพิพากษาดังกล่าวได้กระทำโดยผิดหลงและเป็นการผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และคำพิพากษาเป็นละเมิดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 19 มีนาคม 2556 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเหตุตามคำร้องมิใช่เหตุที่ทำให้ผลตามคำพิพากษาตามสัญญายอมจะสิ้นผลไปโจทก์ชอบที่จะยังบังคับตามสัญญายอมได้อยู่เมื่อจำเลยที่ 3 พ้นจากการล้มละลาย ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2559 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีไม่ทำการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือรายงานข้อเท็จจริงในการบังคับคดีแจ้งว่า ผู้แทนโจทก์ได้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 55124, 121713, 121790 ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครอง ก่อนทำการยึดทรัพย์เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตรวจสอบสถานะของจำเลยที่ 3 ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับลูกหนี้ในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลางหมายเลขแดงที่ ล.13437/2552 ระหว่าง ธนาคาร ก.เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ นายธีรพงษ์ หรือนายณัฎฐพล ลูกหนี้ ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 พิพากษาล้มละลายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 และปลดล้มละลายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 เจ้าพนักงานบังคับคดีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 จึงเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างที่จำเลยที่ 3 ยังคงเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการจัดการหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงมีคำสั่งไม่ดำเนินการยึดให้
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ศาลชั้นต้นตรวจสอบข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบกับสอบถามทนายโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 3 ถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 และพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ล้มละลายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ภายหลังจึงมีคำสั่งปลดจากการล้มละลายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 แต่คดีนี้มีการฟ้องจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2556 ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่จำเลยที่ 3 ยังเป็นบุคคลล้มละลายอยู่ต้องห้ามตามกฎหมาย ที่ศาลรับคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 3 มาจึงเกิดจากการผิดหลง ประกอบกับเรื่องอำนาจฟ้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องดังกล่าว และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องจำเลยที่ 3 จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 3 แล้ว กระบวนพิจารณานับต่อจากนั้นซึ่งรวมถึงการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและการพิพากษาตามยอมเฉพาะเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงถูกเพิกถอนไปด้วย กรณีไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องไต่สวนเพื่อมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 3 อีก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 3 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 จำเลยที่ 3 ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับโจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และประทับตราบริษัทจำเลยที่ 1 ในสัญญาก่อสร้าง โดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย และเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้ จำเลยที่ 3 ก็มิได้แจ้งให้โจทก์หรือศาลชั้นต้นทราบถึงเหตุดังกล่าว จนกระทั่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำพิพากษาตามยอม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ายกคำร้อง โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 เป็นที่ดินจำนวน 6 แปลง แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการยึดให้อ้างเหตุว่ามูลหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเกิดขึ้นระหว่างที่จำเลยที่ 3 ยังเป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2559 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า คดีนี้มีการฟ้องจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2556 ซึ่งอยู่ในช่วงที่จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลาย จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องจำเลยที่ 3 ให้จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับโจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และประทับตราบริษัทจำเลยที่ 1 ในสัญญาก่อสร้าง เป็นการจัดการทรัพย์สินที่จำเลยที่ 3 ลูกหนี้จัดการทรัพย์สินแทนบุคคลอื่นหรือทำกิจการแทนผู้อื่น การที่จำเลยที่ 3 ทราบอยู่แล้วถึงฐานะการล้มละลายของตนเอง แต่ปกปิดข้อเท็จจริง เป็นเหตุให้โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 3 และเมื่อศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว โจทก์เพิ่งมาทราบภายหลังว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายในชั้นบังคับคดี พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริตละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 3 ได้ก่อหนี้ดังกล่าวขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย และไม่ใช่หนี้ที่ต้องบังคับเอากับกองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย จึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 โจทก์สามารถนำหนี้ตามสัญญาก่อสร้างดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้โดยตรงและจำเลยที่ 3 มีอำนาจในการต่อสู้คดีและทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเมื่อคดีล่วงพ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว คดีนี้จึงถึงที่สุด คำพิพากษาตามยอมยังไม่สิ้นผล การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องจำเลยที่ 3 จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 3 นั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ได้รับการปลดจากล้มละลายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ก็ไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 77 และมาตรา 81/1 เมื่อจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ที่ได้มาภายหลังจากการปลดจากล้มละลายแล้วได้ อีกทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายจึงไม่ทำให้เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายได้รับความเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 55124, 121713, 121790, โฉนดที่ดินเลขที่ 81466 และสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3806, 3807 ว่าที่ดินทั้ง 6 แปลง เป็นที่ดินที่จำเลยที่ 3 ได้มาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 อันเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยที่ 3 ปลดจากการล้มละลายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับเอากับทรัพย์สินดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องจำเลยที่ 3 ไม่จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 3 และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 55124, 121713, 121790 ที่ดินโฉนดเลขที่ 81466 และที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 3806 และ 3807 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ