ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์และฎีกาที่ขัดต่อข้อจำกัดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตราจองจากการรับมรดกตามพินัยกรรมของ ว. ขณะโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสองเข้าไปบุกรุกที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิหรือชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากเดิมที่ดินพิพาทเป็นของ จ. บิดาของจำเลยที่ 2 เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ย. มารดาจำเลยที่ 2 ได้โอนที่ดินพิพาทให้ ว. ซึ่งมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกโดยชอบ เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินมาจาก ว. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่มีข้อต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแน่ชัดที่จะแสดงว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยพินัยกรรมจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และกรณีเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาด้วย