โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ริบซองกระสุนปืนเล็กกลของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 55, 78 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 8 เดือน ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 12 เดือน ริบซองกระสุนปืนเล็กกลของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก (ที่ถูก คำขออื่นให้ยก)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า อาวุธปืน ซองกระสุนปืนและกระสุนปืนของกลาง สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุร้อยตรีสรกฤชเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 ข้อ 1 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายพิเศษที่ออกใช้บังคับในขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติปกครองบริหารประเทศ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากมีบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดอาญาบางประการที่เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศโดยการข่มเหง ขู่เข็ญรังแกหรือแสดงตนอันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเกรงกลัวไม่กล้าขัดขืนหรือร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะเกรงภัยจะเกิดแก่ตนและการที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีมีความยุ่งยากซับซ้อนหรืออาจเกิดความเสี่ยงภัยต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และกำหนดกระบวนการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญาดังกล่าวเป็นพิเศษเพื่อเป็นมาตรการเสริมกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันอันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดอาญา โดยคำสั่งดังกล่าว ข้อ 2 (1) ระบุให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามดำเนินการแก่บุคคลผู้กระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำความผิดโดยมีพฤติการณ์กระทำความผิดโดยการข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น และให้มีอำนาจตามข้อ 3 (4) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทำความผิด ตามข้อ 2 หลบซ่อนอยู่หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิด ตามข้อ 2 หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม และ (5) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (4) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 จึงเป็นกฎหมายพิเศษที่ตราขึ้นในภาวะบ้านเมืองไม่ปกติ แต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนนอกจากที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้ข้าราชการทหารที่มียศตั้งแต่ร้อยตรีขึ้นไปเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม มีอำนาจเข้าไปค้นในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น รวมทั้งมีอำนาจในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบนั้นเพื่อลดขั้นตอนในการค้นอันถือได้ว่าเป็นกฎหมายเฉพาะที่ตราขึ้นยกเว้นบทบัญญัติเรื่องการค้นโดยต้องมีหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ร้อยตรีสรกฤชจึงมีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยเรียกเอาเงินจากนายวันเฉลิมเพื่อไม่ดำเนินคดีแก่นายวันเฉลิมนั้น จำเลยย่อมตกอยู่ในฐานะบุคคลผู้กระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 ข้อ 2 วรรคสอง ด้วยมีพฤติการณ์ข่มขืนใจให้ผู้อื่นจำยอมมอบเงินโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพของนายวันเฉลิม อันเป็นผลให้ร้อยตรีสรกฤชในฐานะเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามดำเนินการแก่จำเลยตามอำนาจหน้าที่ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 ได้ ทั้งการตรวจค้นดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องทันทีภายหลังมอบจำเลยให้แก่พนักงานสอบสวน เชื่อมโยงให้เห็นว่าเป็นการกระทำโดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าทรัพย์สินภายในสถานที่ทำงานและในบ้านจำเลยอาจถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลายหรือเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมได้ ดังนั้น ร้อยตรีสรกฤชจึงมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการเข้าไปเพื่อตรวจค้นสถานที่ทำงานและภายในบ้านจำเลยแม้จะเป็นเวลากลางคืนหลังพระอาทิตย์ตกดินได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ทั้งจำเลยยังยินยอมให้ตรวจค้นแต่โดยดีโดยเป็นผู้นำให้เจ้าพนักงานทำการตรวจค้นด้วยตนเอง การกระทำของร้อยตรีสรกฤชกับพวกจึงชอบด้วยกฎหมาย สิ่งของที่พบจึงใช้เป็นพยานหลักฐานรับฟังลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน