โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2277/2560 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 51 กระทง เป็นจำคุก 153 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 76 เดือน 15 วัน ยกคำขอของโจทก์ที่ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2277/2560 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลรอการลงโทษในคดีดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจากผู้กู้แต่ละรายต่างวันเวลากัน ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2555 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2560 รวม 51 รายการ และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนี้ ในขณะกระทำความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 แม้ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 แต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) ยังคงบัญญัติให้การกระทำที่มีลักษณะเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงถือไม่ได้ว่าพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 จึงเป็นฟ้องชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการฉ้อฉลให้ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดให้แก่จำเลย หรือมีพฤติการณ์ข่มขู่คุกคามผู้กู้ให้ยินยอมชำระหนี้คืนแก่จำเลย น่าเชื่อว่าการกระทำความผิดตามฟ้องเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของผู้กู้และผู้ให้กู้ที่สมยอมให้มีการคิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ พฤติการณ์แห่งคดีการกระทำความผิดจึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรงนัก เมื่อได้ความว่าจำเลยเป็นหญิงสูงอายุ และมีปัญหาด้านสุขภาพ อีกทั้งยังต้องมีภาระดูแลมารดาซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง ประกอบกับจำเลยถูกคุมขังระหว่างฎีกาในคดีนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เชื่อว่าน่าจะทำให้จำเลยหลาบจำและไม่หวนกลับมากระทำผิดอีก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษให้จำเลยสักครั้งหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รอการลงโทษให้จำเลยมานั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและให้คุมประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยกระทงละ 1,000 บาท รวม 51 กระทง เป็นปรับรวม 51,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับรวม 25,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง และให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนดเวลารวม 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30