คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างของโจทก์และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 259,348 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 259,348 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 19 มีนาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลแรงงานกลางออกคำบังคับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2547 บังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามคำพิพากษาแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับเป็นต้นไป ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำบังคับภายในระยะเวลาหรือเงื่อนไขดังกล่าว จะต้องถูกยึดทรัพย์หรือถูกจับและจำขังดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 1 โดยมีผู้รับไว้แทนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 ส่วนจำเลยที่ 2 ส่งคำบังคับให้ไม่ได้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายืน ศาลแรงงานกลางได้ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาภายใน 15 วัน และส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 2 โดยมีผู้รับไว้แทน เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามคำบังคับแล้วจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางได้ออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 ตามคำร้องขอของโจทก์
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่ 7 ธันวาคม 2553 ขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนหมายบังคับคดี อ้างว่ายังไม่ได้มีการส่งคำบังคับกำหนดระยะเวลาให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาเสียก่อน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า มีการส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 1 โดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2547 ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำบังคับโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 และมาตรา 273 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 กรณีจึงไม่มีเหตุตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมีการส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2547 แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกาซึ่งอาจมีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย และได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำร้องลงวันที่ 7 กันยายน 2547 ไว้ด้วยก็ตาม แต่ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ได้มีคำพิพากษาแล้วจึงไม่จำต้องสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับดังกล่าว มีผลเท่ากับว่าศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้นการเริ่มต้นบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางยังคงดำเนินต่อไป คำบังคับของศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาจึงมีผลใช้บังคับอยู่ ทั้งต่อมาปรากฏว่าศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด จึงไม่จำต้องออกคำบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาซ้ำอีก เมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับได้ล่วงพ้นไปแล้ว การที่ศาลแรงงานกลางออกหมายบังคับคดีจึงเป็นการออกหมายบังคับคดีที่เป็นไปตามขั้นตอนดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 276 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่นำมาใช้กับคดีแรงงานโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 กรณีไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนหมายบังคับคดี ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2553 นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน