โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 96, 264, 265, 268, 341 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 79,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย และนำโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำคุก 2 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1240/2559 ของศาลจังหวัดพะเยา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยรองอธิบดีอัยการภาค 5 รักษาการในตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า นางสาวบัวฟอง ผู้เสียหายเป็นบุคคลสัญชาติลาว เข้ามาพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานประมาณ 10 ปี ประกอบอาชีพค้าขายอาหาร ผู้เสียหายถือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 วันที่ 11 และ 18 เมษายน 2561 ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีของนายอานนท์ รวมจำนวน 69,000 บาท ต่อมาผู้เสียหายได้รับหนังสือประกาศสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนอนุมัติเพิ่มชื่อผู้เสียหายในทะเบียนบ้าน เมื่อผู้เสียหายนำไปติดต่อเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสัญชาติไทยจึงทราบว่าหนังสือประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารราชการปลอม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงและใช้เอกสารราชการปลอมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า ข้อความสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์ที่ใช้ชื่อว่า "ปลัดเชียงแสน" และ "Thammmachat" ต่างมีการส่งภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนและสมุดบัญชีของนายอานนท์ ให้ผู้เสียหายเพื่อให้โอนเงินค่าใช้จ่ายเข้าบัญชีดังกล่าว ทั้งยังปรากฏข้อความสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์ว่า วันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ผู้เสียหายทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าไถ่ถอนรถยนต์ที่นำมาจำนำแก่ผู้เสียหาย และวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 มีการส่งภาพถ่ายหลักฐานการโอนเงินค่าไถ่ถอนรถยนต์จำนวน 23,000 บาท เข้าบัญชีของผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านรับว่า ได้โอนเงินจำนวน 23,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายผ่านตู้เอทีเอ็ม เจือสมคำเบิกความของผู้เสียหายให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า หลังจากผู้เสียหายตกลงให้จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือเพื่อให้ผู้เสียหายซึ่งถือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน และลูกน้องอีก 3 คน ที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เป็นบุคคลสัญชาติไทยถือบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสัญชาติไทย และถือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามที่จำเลยที่ 1 มาชักชวน จากนั้นผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ติดต่อกันผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายโดยผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ผู้เสียหายและบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้ลูกน้องของผู้เสียหายได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 รู้จักกับผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอ ทั้งที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการได้จริง อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายและได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ส่วนความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมนั้น นอกจากจำเลยที่ 1 ส่งภาพถ่ายหนังสือประกาศสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนอนุมัติเพิ่มชื่อผู้เสียหายในทะเบียนบ้านให้ผู้เสียหายทางแอปพลิเคชันไลน์แล้ว ผู้เสียหายยังเบิกความยืนยันอีกว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำหนังสือประกาศสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนอนุมัติเพิ่มชื่อผู้เสียหายในทะเบียนบ้านมามอบให้ผู้เสียหายด้วยตนเอง การที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือประกาศสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนอนุมัติเพิ่มชื่อผู้เสียหายในทะเบียนบ้านมามอบให้ผู้เสียหายโดยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์คงได้ความว่า จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าสามารถติดต่อให้ผู้เสียหายทำบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสัญชาติไทยและให้ลูกน้องของผู้เสียหายถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 รู้จักกับผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอ แต่ต้องเสียเงินค่าดำเนินการ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงส่งมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปให้แก่ผู้ใหญ่บ้านและปลัดอำเภอผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเช่นนั้นต่อผู้เสียหายก็เพื่อต้องการเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่ผู้เสียหายนำหนังสือประกาศสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนอนุมัติเพิ่มชื่อผู้เสียหายในทะเบียนบ้าน ไปติดต่อเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนผู้มีสัญชาติไทยจึงทราบความจริงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมก่อให้เกิดความผิดหรือเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปกระทำความผิดอาญา ผู้เสียหายย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงและใช้เอกสารราชการปลอมมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 79,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 แต่ไม่วินิจฉัยตามคำขอให้คืนเงินของโจทก์ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 79,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5