โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 27567 และ 27623 และโฉนดที่ดินเลขที่ 3591 และ 3592 พร้อมห้องแถวไม้ 2 ชั้น 2 คูหา เลขที่ 218 และ 219 เป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายณรงค์ ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 27567 และ 27623 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 27567 และ 27623 คนละ 1 ใน 6 ส่วน หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินรวม 2 โฉนด ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3591 และ 3592 พร้อมห้องแถวไม้ 2 ชั้น 2 คูหา เลขที่ 218 และ 219 ระหว่างนางทองม้วนในฐานะผู้จัดการมรดกของนายณรงค์ กับจำเลยที่ 1 และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3592 พร้อมห้องแถวไม้ 2 ชั้น 2 คูหา เลขที่ 218 และ 219 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3591 และ 3592 พร้อมห้องแถวไม้ 2 ชั้น 2 คูหาเลขที่ 218 และ 219 คนละ 1 ใน 6 ส่วน หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 27623 โฉนดที่ดินเลขที่ 27567 โฉนดที่ดินเลขที่ 3591 โฉนดที่ดินเลขที่ 3592 พร้อมห้องแถวไม้ 2 ชั้น 2 คูหา เลขที่ 218 และ 219 เป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายณรงค์ ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 27623 โฉนดที่ดินเลขที่ 27567 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินตามที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27623 และ 27567 คนละ 1 ใน 6 ส่วน ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3591 และ 3592 พร้อมห้องแถวไม้ 2 ชั้น 2 คูหา เลขที่ 218 และ 219 ระหว่างนางทองม้วนในฐานะผู้จัดการมรดกของนายณรงค์ กับจำเลยที่ 1 และให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3592 พร้อมห้องแถวไม้ 2 ชั้น 2 คูหา เลขที่ 218 และ 219 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3591 และ 3592 พร้อมห้องแถวไม้ 2 ชั้น 2 คูหา เลขที่ 218 และ 219 คนละ 1 ใน 6 ส่วน หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ที่ 5 ถึงแก่ความตาย นายพงศกร บุตรโจทก์ที่ 5 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งห้า ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายณรงค์กับนางทองม้วน เป็นสามีภริยากันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายบุญรัตน์ นายณรงค์อุปการะเลี้ยงดูนายบุญรัตน์ ให้ใช้นามสกุล ส่งเสียให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียน และแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตรของตน โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายบุญรัตน์กับนางสมนึก นายณรงค์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2524 ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2524 ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งตั้งให้นางทองม้วนเป็นผู้จัดการมรดกของนายณรงค์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 นางทองม้วนนำที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน เลขที่ 1/2497 ออกเอกสารสิทธิเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1700 จากนั้นนางทองม้วนแบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1749 และ 1750 เนื้อที่ 60 ตารางวา และ 50 ตารางวา ตามลำดับ ต่อมาที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทั้งสองแปลงดังกล่าว มีการออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 27567 และ 27623 ตามลำดับ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 3591 และ 3592 มีห้องแถวไม้ 2 ชั้น 2 คูหา เลขที่ 218 และ 219 ปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน นางทองม้วนและนายบุญรัตน์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 และ 17 มีนาคม 2556 ตามลำดับ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าประการแรกมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจวินิจฉัยคดีในส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27623 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงรวมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท 2 แปลง เป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายณรงค์เจ้ามรดก และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งหมดรวมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งห้า โดยบรรยายฟ้องว่า โจทก์แต่ละคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ต่างได้รับมรดกดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน รวม 6 ส่วน คิดเป็นเงินรวม 398,200 บาท จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งหมดรวมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดก แม้โจทก์ทั้งห้าฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้องคิดแยกทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับ มิใช่กรณีนำเฉพาะราคาที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27623 มาคิดแยกรายแปลงเป็นทุนทรัพย์ของโจทก์ทั้งห้า ดังนั้น เมื่อฝ่ายจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทั้งห้าชนะคดีตามฟ้อง อันเป็นการโต้แย้งว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าตามที่ฟ้องมา การคิดทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์จึงไม่อาจคิดเฉพาะจากราคาที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27623 แยกเป็นรายแปลงตามที่โจทก์ทั้งห้าอ้างมา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจวินิจฉัยคดีในส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27623 ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าประการต่อมามีว่า คดีขาดอายุความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า นางทองม้วนซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายณรงค์ ได้ทุจริตเบียดบังทรัพย์มรดกโดยไม่โอนทรัพย์มรดกให้แก่นายบุญรัตน์ทายาทผู้รับสิทธิรับมรดก เมื่อนางทองม้วนและนายบุญรัตน์ถึงแก่ความตายก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งห้าในฐานะผู้สืบสันดานของนายบุญรัตน์จึงสืบสิทธิของนายบุญรัตน์มาฟ้องคดีนี้ เช่นนี้ มูลเหตุที่โจทก์ทั้งห้าอ้างนำคดีนี้มาฟ้องเกิดจากการที่นางทองม้วนผู้จัดการมรดกละเลยและไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่นายบุญรัตน์ทายาทอย่างถูกต้อง อันเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 คดีนี้จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ได้บัญญัติเรื่องอายุความในการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไว้โดยเฉพาะว่า ห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สืบสิทธิของนายบุญรัตน์ทายาทเช่นเดียวกับโจทก์ทั้งห้า ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิของนายบุญรัตน์ยกอายุความห้าปีตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ คดีนี้โจทก์ทั้งห้านำสืบว่า นายณรงค์มีทรัพย์มรดกเป็นทรัพย์พิพาทคดีนี้ที่จะตกทอดแก่นายบุญรัตน์ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ส่วนจำเลยทั้งสามนำสืบว่า นางทองม้วนผู้จัดการมรดกตกลงกับนายบุญรัตน์ว่า นายบุญรัตน์ขอมรดกเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ส่วนที่ดินนางทองม้วนจะรับไป คดีจึงต้องพิจารณาว่า นางทองม้วนกับนายบุญรัตน์ได้ตกลงดังกล่าวกันจริงหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า นายบุญรัตน์ทราบว่านายณรงค์มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินใดบ้าง และคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า ในช่วงปี 2524 โจทก์ที่ 2 อยู่กับนายบุญรัตน์ที่จังหวัดชลบุรี โดยหลังจากนายณรงค์ถึงแก่ความตาย นายบุญรัตน์ทราบว่านางทองม้วนได้มีการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก แสดงว่าก่อนที่นายบุญรัตน์จะถึงแก่ความตาย นายบุญรัตน์ทราบดีว่าทรัพย์มรดกของนายณรงค์เป็นที่ดินแปลงใด และนางทองม้วนเป็นผู้จัดการมรดกของนายณรงค์ แต่นายบุญรัตน์กลับปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานจนตัวเองถึงแก่ความตาย ภายหลังจากนายณรงค์เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและศาลมีคำสั่งตั้งให้นางทองม้วนเป็นผู้จัดการมรดกของนายณรงค์เป็นเวลานานประมาณ 32 ปี และภายหลังจากนางทองม้วนแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 บุตรของนายบุญรัตน์เป็นเวลานานประมาณ 27 ปี โดยไม่ปรากฏว่านายบุญรัตน์ได้คัดค้านในการที่นางทองม้วนได้จัดการทรัพย์พิพาทแต่อย่างใด อันผิดวิสัยของคนที่มีสิทธิในทรัพย์พิพาทนั้น เพราะหากทรัพย์พิพาทเป็นของนายบุญรัตน์จริง นายบุญรัตน์ก็ควรใช้สิทธิฟ้องร้องเอาคืนมาเสียโดยเร็ว แต่กลับมีการปล่อยปละละเลยมานานเช่นนี้ ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 4 ตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า ต่อมานายบุญรัตน์ได้ย้ายมาอยู่ที่ห้องแถวพิพาท และคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า หลังจากนางทองม้วนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลนายบุญรัตน์ เช่นนี้ การที่นายบุญรัตน์ย้ายมาอยู่ที่ห้องแถวพิพาท ย่อมบ่งชี้ได้ว่าไม่มีการปกปิดนายบุญรัตน์เกี่ยวกับทรัพย์พิพาท และการที่นายบุญรัตน์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลตน ย่อมส่อแสดงว่านายบุญรัตน์รู้เห็นและยินยอมให้นางทองม้วนจัดการทรัพย์พิพาท มิฉะนั้นนายบุญรัตน์คงจะไม่ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการจัดการมรดกของนางทองม้วน เป็นผู้ดูแลตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า หากจำเลยที่ 1 ร่วมกับนางทองม้วนทุจริตเบียดบังทรัพย์มรดกที่จะตกทอดแก่นายบุญรัตน์แล้ว นายบุญรัตน์คงจะให้บุตรคนอื่น ที่มิใช่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลตนมากกว่า ยิ่งกว่านั้นภายหลังนางทองม้วนเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว นางทองม้วนได้จัดการที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1700 ซึ่งโจทก์ทั้งห้าอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายณรงค์ โดยแบ่งโอนขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นอีกหลายคน และยังแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์ด้วย อันเป็นวิสัยการจัดการของผู้มีสิทธิในที่ดินนั้น จากพฤติการณ์ของนางทองม้วนและนายบุญรัตน์ตามที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ย่อมเป็นข้อสนับสนุนให้เชื่อได้ว่านางทองม้วนกับนายบุญรัตน์ได้ตกลงกันไว้จริงตามที่จำเลยทั้งสามนำสืบ แม้การตกลงดังกล่าวกระทำด้วยวาจาตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งห้าถามค้าน ก็หาเป็นพิรุธไม่ พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสามนำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์ทั้งห้า และเมื่อพิจารณาหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทที่โจทก์ทั้งห้าอ้างมา ปรากฏว่านางทองม้วนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1700 โดยจดทะเบียนใส่ชื่อร้อยโทมนูญและนางแสงอรุณตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2532 เมื่อปรากฏว่านายณรงค์เจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีก จึงถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันที่ 16 มีนาคม 2532 อันเป็นวันสุดท้ายของการจัดการมรดกแล้ว การที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ซึ่งเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง และเมื่อคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกขาดอายุความแล้ว โจทก์ทั้งห้าก็ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ดังกล่าว โดยถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2529 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ