โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 318 วรรคสาม, 276 วรรคสอง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 318 วรรคสาม การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุกคนละ 8 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพนิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิด ประกอบกับรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัย หากจำเลยทั้งสองได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าจะให้ได้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 1 ปี ขั้นสูงคนละ 2 ปี นับแต่วันพิพากษา (วันที่ 16 มีนาคม 2547)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกาโดยจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนความผิดฐานพรากผู้เยาว์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับฎีกาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองเฉพาะความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้หรือไม่ คดีนี้การพรากผู้เยาว์เหตุเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนและต่อเนื่องไปถึงท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร แล้วจำเลยทั้งสองได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร กรณีเป็นเรื่องจำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อเนื่อง และกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป จึงเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด แล้วพาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดังกล่าวไปจับจำเลยทั้งสองที่ท้องที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครทันทีทันใด แล้วนำตัวจำเลยทั้งสองไปส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนดำเนินคดี ดังนี้เห็นได้ว่าขณะผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนนั้น ยังจับผู้ต้องหา (จำเลย) ไม่ได้ ท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนคือสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ข) กล่าวคือ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดังนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนจึงมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 และ 141 กรณีถือได้ว่าได้มีการสอบสวนความผิดนั้นโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 2 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น...
พิพากษาแก้เป็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุไม่เกินสิบห้าปี ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ที่แก้ไขใหม่ แต่เห็นสมควรให้ดำเนินการตามมาตรา 74 (2) และ (3) กล่าวคือ ให้มอบตัวจำเลยที่ 2 แก่บิดามารดาโดยให้บิดามารดาต้องระวังไม่ให้จำเลยที่ 2 ก่อเหตุร้ายหรือกระทำความผิดทางอาญาเป็นเวลา 3 ปี หากฝ่าฝืนให้ปรับบิดามารดาครั้งละ 5,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติประจำศาลจังหวัดสมุทรสาครทุก 3 เดือน รวม 8 ครั้ง ห้ามจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับสุรายาเสพติดทุกประเภท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์