โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยหยุดหักเงินเดือนโจทก์ในส่วนหักชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด 19,311 บาท และเงินเดือนที่จำเลยจะหักจากโจทก์ในอนาคต พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษากลับ ห้ามมิให้จำเลยหักเงินเดือน ค่าจ้างในส่วนที่ชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ที่ผิดนัด และให้จำเลยคืนเงิน 19,311 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 เมษายน 2563) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา (ที่ถูก บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี) แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่โจทก์มีคำขอ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาและข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันเป็นยุติว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งพนักงานนำจ่ายระดับ 5 ไปรษณีย์พระโขนง อัตราเงินเดือน 20,640 บาท และเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลย เมื่อเดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2563 จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์รวมเป็นเงิน 19,311 บาท เพื่อชำระค่าหุ้นและหนี้เงินกู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้กู้และเป็นผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ที่เป็นสมาชิกที่ผิดนัดให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด โดยในส่วนของการหักชำระหนี้เงินกู้ในฐานะผู้ค้ำประกันแทนสมาชิกผู้กู้ที่ผิดนัด จำเลยหักเดือนละ 4,827.75 บาท ทำให้เงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ภายหลังหักชำระหนี้แล้ว ในเดือนมกราคม 2563 คงเหลือ 0 บาท เดือนกุมภาพันธ์ 2563 คงเหลือ 3,435.55 บาท เดือนมีนาคม 2563 คงเหลือ 872.05 บาท และเดือนเมษายน 2563 คงเหลือ 6,274.80 บาท ทั้งนี้โจทก์ทำหนังสือยินยอมให้หักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ไว้ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยมีอำนาจหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมในฐานะที่โจทก์เป็นผู้กู้และเป็นผู้ค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 วรรคหนึ่ง (3) เมื่อโจทก์ทำหนังสือยินยอมให้หักเงินเดือนค่าจ้างให้แก่สหกรณ์ จำเลยจึงมีอำนาจตามประกาศดังกล่าว ข้อ 31 วรรคสอง ตอนท้าย โดยมีอำนาจหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์เกินกว่าร้อยละ 10 ได้ การที่สหกรณ์หักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์เพื่อชำระหนี้ในฐานะโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันจนทำให้เงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ภายหลังถูกหักเหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยบางเดือนเหลือศูนย์บาท ซึ่งแม้โจทก์กู้ยืมเงินจากสหกรณ์โดยต้องชำระหนี้เป็นจำนวนเกินร้อยละ 50 ของเงินเดือนค่าจ้างที่โจทก์ได้รับอยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตของหนังสือยินยอมดังกล่าว ไม่ขัดต่อประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 ไม่เป็นการทำละเมิดโจทก์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า การที่นายจ้างหักค่าจ้างตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 ต้องตีความโดยเคร่งครัด กล่าวคือ ลูกจ้างจะต้องเป็นหนี้สหกรณ์โดยตรงและเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วและหนี้นั้นจะต้องถูกนำมาหักจากเงินเดือนค่าจ้างในเวลาต่อจากนั้นจนกว่าจะเสร็จสิ้นหรือหมดจากภาระหนี้ โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันผู้กู้รายอื่น ไม่ใช่หนี้ของโจทก์โดยตรง วันที่โจทก์เข้าค้ำประกันยังไม่มีหนี้ระหว่างสหกรณ์กับโจทก์ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 31 วรรคหนึ่ง (3) ของประกาศดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ให้ความยินยอมในการหักค่าจ้างไว้ล่วงหน้าและหักเกินกว่าจำนวนตามข้อ 31 วรรคสอง การที่จำเลยหักเงินเดือนของโจทก์ในส่วนของการชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต้องคืนเงินในส่วนดังกล่าว 19,311 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ชำระหนี้ในส่วนของความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ที่ผิดนัดให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งบางเดือนเงินเดือนค่าจ้างคงเหลือศูนย์บาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ กฎหมายที่ใช้บังคับแก่สภาพการจ้างสำหรับลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ คือ ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยประกาศดังกล่าว ข้อ 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหัก เพื่อ (1)... (2)... (3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์... โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง (4)... (5)... วรรคสอง บัญญัติว่า การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณี ห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง ดังนี้ ค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากนายจ้างเป็นสิทธิของลูกจ้างจะพึงได้รับเพื่อใช้ในการดำรงชีพ บทบัญญัติดังกล่าวจึงมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และเพื่อความมั่นคงของตัวลูกจ้างซึ่งจะส่งผลให้ลูกจ้างมีกำลังใจและความมุ่งมั่นในการทำงานให้แก่นายจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ บทบัญญัติดังกล่าวจึงกำหนดเป็นหลักการว่าห้ามไม่ให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดไว้ แต่ก็มีข้อยกเว้น กล่าวคือ หากลูกจ้างให้ความยินยอมล่วงหน้าไว้นายจ้างก็มีสิทธิหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้สินของสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละสิบของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ และมีสิทธิหักรวมกับเงินอื่นตาม (2) (4) และ (5) แล้วไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับได้ แต่ถ้าหากลูกจ้างให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าด้วย นายจ้างมีสิทธิหักค่าจ้างและเงินอื่นใดดังกล่าวเพื่อชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ และมีสิทธิหักรวมกับเงินอื่นตาม (2) (4) และ (5) แล้วเกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับได้ ทั้งนี้ บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำไว้ว่าเมื่อหักชำระหนี้แล้วต้องเหลือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดเพียงใด และไม่ได้กำหนดว่าหนี้สินของสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องเป็นหนี้สินโดยตรงของลูกจ้างที่เกิดขึ้นแล้วในขณะลูกจ้างทำหนังสือให้ความยินยอม แต่ขณะนายจ้างหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดนั้น ลูกจ้างต้องมีหนี้ที่ต้องชำระแก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด แล้ว คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยทำหนังสือถึงจำเลยว่า ตามที่โจทก์ได้ค้ำประกันเงินกู้สามัญให้แก่นายฉัตรชัย (ผู้กู้) เป็นจำนวน 817,962.98 บาท นั้น หากโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด แทนผู้กู้ตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินเดือน ค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป โดยให้หักเงินดังกล่าวและส่งเงินที่หักไว้นั้นให้แก่สหกรณ์โดยพลัน โดยไม่ต้องฟ้องร้องแต่อย่างใด โดยโจทก์ยินยอมให้หักได้เกินกว่าร้อยละสิบและให้หักรวมกับรายการหักอื่น ๆ ได้เกินกว่าหนึ่งในห้าของเงินที่โจทก์มีสิทธิรับตามกำหนดเวลาการจ่ายเงินดังกล่าว เห็นได้ว่าขณะโจทก์ทำหนังสือยินยอมดังกล่าวหนี้เงินกู้ระหว่างผู้กู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว และโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต่อสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ว่าจะเข้าชำระหนี้แทนหากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ การที่โจทก์ทำหนังสือยินยอมดังกล่าวเป็นการสละสิทธิเกี่ยงให้ผู้กู้ชำระหนี้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 โดยโจทก์ยินยอมชำระหนี้แทนผู้กู้หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ด้วยการให้จำเลยหักเงินเดือน ค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นจำนวนเกินร้อยละสิบ ของเงินที่โจทก์ที่มีสิทธิได้รับจากจำเลยได้ และให้หักรวมกับรายการหักอื่น ๆ เกินกว่าหนึ่งในห้าของเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับได้ อันเป็นการให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้า ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์จึงมีหนี้ที่ต้องชำระในฐานะผู้ค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด แล้ว จำเลยจึงมีสิทธิหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้แทนผู้กู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ตามหนังสือยินยอมดังกล่าวได้ นอกจากจำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมแทนผู้กู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ยังหักเพื่อชำระค่าหุ้นของโจทก์และหนี้เงินกู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้กู้ด้วย โจทก์ย่อมทราบในขณะทำหนังสือยินยอมว่าเมื่อผู้กู้ที่โจทก์ค้ำประกันผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องถูกหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดเพื่อชำระหนี้แทน ซึ่งโจทก์สามารถคาดหมายได้ว่าเมื่อหักแล้วเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดจะเหลือเพียงพอแก่การดำรงชีพได้หรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดของโจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวแล้วคงเหลือเงินไม่เพียงพอที่โจทก์สามารถดำรงชีพได้หรือบางเดือนเหลือศูนย์บาทจึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง ส่วนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี (1)... (2).... (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน...ที่นายจ้างหรือบุคคลอื่นใดได้จ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น...เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละสองหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร นั้น เห็นว่า เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นในลักษณะเดียวกันตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ เพียงใด และเมื่อประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 บัญญัติเกี่ยวกับการหักเงินเดือนค่าจ้างและเงินอื่นใด เพื่อชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ไว้แล้ว จึงหาอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 วรรคหนึ่ง (3) มาปรับใช้ในฐานเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง โดยให้ถือว่าจำนวนเงินสองหมื่นบาทเป็นเงินเดือนค่าจ้างที่ต้องคงเหลือภายหลังการหักชำระหนี้หรือให้ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินคงเหลือได้ไม่ ส่วนที่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 7 กำหนดว่า ส่วนราชการผู้เบิกจะหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในหรือสหกรณ์ได้ต่อเมื่อข้าราชการนั้นมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวส่วนราชการผู้เบิกต้องงดการหักเงินจนกว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบที่ออกโดยเฉพาะเพื่อใช้ปฏิบัติภายในหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจเช่นจำเลย นอกจากนี้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 42/1 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใด ที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่หักเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกนั้น เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะสิ้นไป โดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดจำนวนเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดคงเหลือภายหลังหักชำระหนี้ไว้ การออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าในกรณีของรัฐวิสาหกิจก็ต้องออกระเบียบเป็นพิเศษโดยเฉพาะเช่นกัน หรือต้องแก้ไขประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 เสียก่อน ดังนั้น การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ชำระหนี้ในส่วนของความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ที่ผิดนัดให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งบางเดือนเงินเดือนค่าจ้างคงเหลือศูนย์บาท จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง