ศาลแพ่งพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๑ ให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินให้แก่โจทก์ ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทนคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๑ คือ ก่อนศาลแพ่งพิพากษาคดีนี้กรมสรรพากรผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้ค้างชำระค่าภาษีอากร ให้แก่ผู้ร้องทั้งสิ้นเป็นเงิน ๗๖,๗๘๙.๘๗ บาท ผู้ว่าราชการจังหวัด (พระนคร) ได้สั่งยึดเงินของจำเลยที่ ๑ ที่มีอยู่ที่ธนาคารแหลมทองจำเลยที่ ๒ รวมเป็นเงิน ๑๘๔,๑๒๘.๗๒ บาท ซึ่งศาลแพ่งได้สั่งอายัดไว้ในคดีนี้แล้ว ขอให้ศาลสั่งถอนการอายัดเงินของจำเลยที่ ๑ ที่ฝากไว้ที่ธนาคารจำเลยที่ ๒ เฉพาะจำนวนเงิน ๗๖,๗๘๕.๘๗ บาท ให้แก่ผู้ร้องด้วยภายหลังที่ศาลแพ่งพิพากษาคดีนี้แล้ว คือ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๒ กรมสรรพากรผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องลงวันที่ ๓๐ ธ.ค.๒๕๐๑ และในวันเดียวกันนั้น ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องใหม่ความว่า จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลประเภทประกอบการค้า การขายของ การรับจ้างทำของ ให้แก่ผู้ร้องโดยจำเลยได้รับประเมินพึงเสียภาษีการค้ารวมทั้งเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลในปี พ.ศ.๒๔๙๘ และปี พ.ศ. ๒๔๙๙ รวม ๒ พ.ศ. เป็นเงิน ๓๓,๘๔๕.๐๒ บาท และภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมทั้งเงินเพิ่มในรอบเวลาบัญชีปี พ.ศ. ๒๔๙๘ และปี พ.ศ.๒๔๙๙ รวม ๒ ปี เป็นเงิน ๑๐,๕๔๒.๕๐ บาทและเมื่อครบกำหนดเวลาจะต้องชำระ จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระ จึงต้องเสียเงินค่าเพิ่มภาษีอีกร้อยละ ๒๐ ตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน ๘,๘๗๗.๕๑ บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๕๓,๒๖๕.๐๓ บาท ขอให้ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินค่าภาษีที่ค้างชำระทั้งหมด ๕๓,๒๖๕.๐๓ บาท จากเงินสดของจำเลยที่ ๑ ที่มีอยู่ที่ธนาคารแหลมทองจำเลยที่ ๒ ที่ศาลแพ่งได้อายัดไว้ ให้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น
โจทก์และจำเลยที่ ๒ คัดค้านทำนองเดียวกันว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ย และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๕๖ ผู้ร้องจะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิก็เพียงสำหรับค่าภาษีอากรที่ค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบัน และก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง แต่ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขึ้นมานั้น เป็นค่าภาษีสำหรับปี พ.ศ. ๒๔๙๘, ๒๔๙๙ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้หักหรือขอเฉลี่ยเงินในคดีนี้ได้
ศาลแพ่งมีคำสั่งว่า กรมสรรพากรผู้ร้องขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรในฐานะเป็นผู้ทรงบุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๕๓ บุริมสิทธิดังกล่าวนี้ย่อมตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๕๖ กล่าวคือจะเรียกร้องเอาได้เฉพาะหนี้ที่ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันหรือก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง แต่หนี้ที่ผู้ร้องเรียกร้องนี้เป็นหนี้ค้างชำระมาแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ และ ๒๔๙๙ จึงไม่อาจร้องขอให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวได้ ส่วนที่ผู้ร้องว่ามาตรา ๒๕๖ หมายถึงหนี้ที่ค้างชำระปีสุดท้ายและปีถัดขึ้นไปนั้น ศาลแพ่งเห็นว่า ถ้ายอมให้ใช้สิทธิดังนี้ ก็อาจกินความถึงหนี้ที่ค้างชำระปีสุดท้ายนานเกินกว่า ๑๐ ปี ซึ่งขาดอายุความแล้วก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ความประสงค์ของกฎหมายในเรื่องนี้ จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า คำว่า "ปีปัจจุบัน" ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๕๖ นี้ มีความหมายว่าอย่างไร ศาลฎีกาเห็นว่าในกรณีนี้ "ปัจจุบัน" ย่อมหมายความถึงปีที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เอาเงินของจำเลยที่ ๑ มาชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่ผู้ร้องนั่นเอง คดีนี้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๑ ต่อมาได้ถอนคำร้องนี้เสียและยื่นคำร้องใหม่เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๒ แม้จะถือให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องที่สุดว่าปัจจุบัน คือ ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๕๖ ผู้ร้องก็ยังมีบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรที่ค้างชำระในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และถัดขึ้นไปอีกปีหนึ่ง คือ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เท่านั้น แต่ตามคำร้องของผู้ร้องได้ยื่นขอให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าภาษีอากรที่ค้างสำหรับปี พ.ศ.๒๔๙๘ และ พ.ศ. ๒๔๙๙ ผู้ร้องจึงหาได้มีบุริมสิทธิตามมาตรา ๒๕๖ นั้นไม่
ที่ผู้ร้องโต้แย้งว่า ภาษีที่ค้างชำระในปีปัจจุบันตามความในมาตรา ๒๕๖ ควรตีความว่า ภาษีที่ค้างชำระเป็นปีสุดท้ายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากเป็นการตีความฝืนถ้อยคำในกฎหมายแล้ว ถ้าตีความตามความเห็นของผู้ร้อง ปีสุดท้ายที่ค้างชำระภาษีอยู่อาจเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปี แล้วก็ได้ มาตรา ๒๕๖ ก็จะไปขัดแย้งกันขึ้นกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๗ ที่ผู้ร้องว่าไม่ขัดกันเพราะหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา ๒๕๖ เมื่อเกิน ๑๐ ปี ขาดอายุความแล้วก็ระงับไปในตัวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเข้าใจกฎหมายไม่ถูกต้อง เพราะหนี้ที่ขาดอายุความนั้น หาใช่หนี้นั้นระงับไปไม่ หากแต่เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องร้อง ลูกหนี้มีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้เท่านั้น เมื่อหนี้ไม่ระงับ ถ้าจะแปลมาตรา ๒๕๖ ตามความเห็นของผู้ร้อง ก็จะเป็นว่า เจ้าหนี้ที่มีบุริมสิทธิตามมาตรา ๒๕๖ นี้ อาจเป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้วก็ได้ ซึ่งกฎหมายคงไม่ประสงค์เช่นนั้นเป็นแน่
ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า หนี้มีบุริมสิทธินั้น กฎหมายให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นที่ไม่มีบุริมสิทธิ แต่หาได้หมายความว่า เมื่อผู้ร้องไม่มีบุริมสิทธิตามมาตรา ๒๕๖ นี้แล้ว สิทธิของผู้ร้องในอันที่จะเรียกร้องเอาค่าภาษีอากรรายนี้จะสูญสิ้นระงับไปไม่ ผู้ร้องก็คงเป็นเจ้าหนี้อยู่ แต่ไม่มีบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นเท่านั้น
การที่ผู้ร้องจะประเมินเรียกเก็บเมื่อใดนั้น หาใช่ข้อสำคัญในที่นี้ไม่ แม้ผู้ร้องจะได้ประเมินเรียกเก็บในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ก็หาทำให้ภาษีในปี พ.ศ.๒๔๙๘ และ พ.ศ. ๒๔๙๙ กลายมาเป็นภาษีปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ไปได้ไม่