ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเช่าเคหะเพื่ออยู่อาศัย vs. การค้า: เจตนาคู่สัญญาสำคัญกว่าการใช้ประโยชน์จริง
คำว่า "เคหะ" อันจะได้รับความคุ้มครองตาม ม.3 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2490 นั้น ก.ม.ประสงค์จะคุ้มครองการเช่าอันใช่เป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลัก กล่าวคือเมื่อใช่เป็นที่อยู่อาศัยแล้วก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงว่าจะใช้เป็นที่ประกอบธุระกิจการค้าหรืออุตสาหกรรมด้วยเป็นส่วนประธานหรืออุปกรณ์และในทางกลับกันจะเห็นได้ว่า ก.ม.มิได้มุ่งคุ้มครอบการเช่าเพื่อประกอบกิจธุระการค้าหรืออุตสาหกรรมโดยคู่สัญญามิได้มีเจตนาใช้เป็นที่อยู่อาศัย
ในการที่จะพิจารณาว่าการเช่าที่ปลูกสร้างใดจะเข้าอยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ ดังกล่าวแล้วหรือไม่จะถือเอาการปฏิบัติของผู้เช่าฝ่ายเดียวเป็นข้อวินิจฉัยหาพอไม่ ฉนั้นการที่จะดูว่าผู้เช่าอาศัยอยู่ในเคหะนั้นหรือไม่แต่อย่างเดียวจึงยังไม่พอเพียงกับความประสงค์ของ ก.ม.ในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ จะต้องพิจารณาถึงเจตนาของคู่กรณีในเวลาที่ทำสัญญากันประกอบกับเหตุผลแวดล้อมอื่น ๆ เช่นสภาพของสิ่งปลูกสร้าง อัตราค่าเช่าทำเลที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้าง และการปฏิบัติของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายเหล่านี้รวมกันว่า การเช่าสิ่งปลูกสร้างนั้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือมิใช่
เรื่องเจตนาของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าห้องพิพาทนี้ ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่าจำเลยมีเจตนาเช่าเพื่อการค้ามาแต่เดิม และได้ประกอบธุริกิจการค้าตั้งแต่เริ่มเช่าตลอดมาจนบัดนี้ซึ่งศาลฎีกาจะต้องฟังความโดย ม. 250 ป. วิ.แพ่ง
จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยไว้ในค่าให้การและเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าประเด็นในคดีนี้มีเฉพาะเรื่องจำเลยเช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าจำเลยก็ได้หาโต้แย้งคัดค้านประการใด ไม่ต้องถือว่าคดีนี้ไม่มีประเด็นโต้เถียงอันจะต้องวินิจฉัยในเรื่องการบอกกล่าวแม้ศาลชั้นต้นจะได้วินิจฉัยความข้อนี้มาซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ก็ตาม ศาลอุทธรณ์ย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจจะไม่วินิจฉัยให้โดยถือว่าคดีไม่มีประเด็นโต้เถียงกัน