โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 22,375 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 22,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 1,800 บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ได้ความว่า มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2544 ข้อ 6 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ" ข้อ 10 กำหนดอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว และคณะกรรมการดังกล่าวได้ออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2544 ซึ่งข้อ 16 กำหนดให้มีการจัดให้มีคณะกรรมการกองทุนจำนวน 15 คน ขึ้นมาบริหารจัดการกองทุน ดังนั้นคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานจึงเป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวาน เมื่อมีการโต้แย้งสิทธิและทำให้กองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานได้รับความเสียหาย คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานย่อมมีอำนาจฟ้อง โดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานทุกคนหรือกรรมการบางคนเป็นผู้ดำเนินการได้ เมื่อปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานครั้งที่ 1/2447 วันที่ 15 มีนาคม 2547 ว่า ระเบียบวาระที่ 3.3 มีมติให้ดำเนินคดีกับสมาชิกผู้ค้างชำระเงินกู้ซึ่งมีชื่อจำเลยอยู่ด้วย และระเบียบวาระที่ 3.4 มีมติให้นางชอ้อน กรรมการคนหนึ่งเป็นตัวแทนในการดำเนินคดี การที่นางชอ้อนฟ้องคดีจึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีในนามของกรรมการกองทุนหมู่บ้านพรุกำหวานเป็นการชอบด้วยกฎหมายและมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินและทำสัญญากู้เงินไว้ให้กองทุนหมู่บ้านพรุกำหวาน โดยจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 20,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งตามระเบียบกองทุนผู้กู้จะต้องชำระคืนภายใน 1 ปี พร้อมดอกเบี้ยและได้ทำหลักฐานสัญญากู้เงินไว้ หลังจากกู้เงินจำเลยชำระดอกเบี้ยครั้งเดียว 200 บาท หลังจากนั้นไม่เคยชำระเงิน จำเลยต้องชำระเงินต้น 20,000 บาท ดอกเบี้ย 1,825 บาท และค่าปรับ 550 บาท เป็นคำบรรยายฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า การกู้เงินยังไม่เกิดขึ้นจะนำมาฟ้องร้องไม่ได้นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ เพราะในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์แต่เฉพาะข้อกฎหมาย ดังนั้นฎีกาข้อนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็วินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ