โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 (1)
ศาลล้มละลายกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลล้มละลายกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 (1) จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากกักขังแทนค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ธนาคาร อ. ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเป็นคดีหมายเลขดำที่ ล.3956/2560 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.1609/2561 แต่ในวันนัดฟังคำสั่งฝ่ายจำเลยมีเพียงทนายจำเลยไปฟังคำสั่งศาลแต่จำเลยไม่ไป ในวันเดียวกันจำเลยได้ทำหนังสือขอกู้เงินจากโจทก์เป็นเงิน 3,165,000 บาท โจทก์โอนเงินจำนวน 397,406.40 บาท เข้าบัญชีของจำเลยในวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า "ในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จนถึงเวลาที่พ้นจากล้มละลาย ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ (1) รับสินเชื่อจากผู้อื่นมีจำนวนตั้งแต่สองพันบาทขึ้นไป โดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย" ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 3.1 ว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ธนาคาร อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ล.3956/2560 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยแล้วเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ล.1609/2561 จำเลยทราบวันนัดฟังคำสั่งโดยชอบ แต่จำเลยไม่ไปฟังคำสั่งศาล จำเลยกลับยื่นขอกู้เงินโจทก์จำนวน 3,165,000 บาท โดยจำเลยตั้งใจจะทุจริตฉ้อโกงโจทก์โดยได้ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้ทราบว่า จำเลยถูกฟ้องล้มละลายและศาลนัดฟังคำสั่งและศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยแล้วในวันที่ 26 เมษายน 2561 จำเลยปกปิดข้อความจริงดังกล่าวไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ ซึ่งโจทก์ได้ตรวจสอบสถานะของจำเลยแล้วไม่พบว่าเป็นบุคคลล้มละลายและเข้าเงื่อนไขการกู้ โจทก์จึงอนุมัติเงินกู้และต่อมาได้โอนเงินกู้ให้จำเลยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ... ฟ้องโจทก์มีข้อความที่ยืนยันว่าจำเลยไปขอกู้เงินกับโจทก์ โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์ จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ ครบองค์ประกอบของฐานความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 (1) ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าในคดีที่ธนาคาร อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีล้มละลาย คดีหมายเลขแดงที่ ล.1609/2561 จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้คดีให้ ซึ่งตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2561 ระบุว่าเมื่อคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่ 26 เมษายน 2561 เวลา 9.00 นาฬิกา จำเลยและทนายความซึ่งไปศาลในวันดังกล่าวลงลายมือชื่อทราบนัดไว้ ครั้นถึงวันนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งปรากฏว่ามีเพียงทนายความจำเลยไปฟังคำสั่งศาลส่วนจำเลยไม่ไป จำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามที่อ้างมาในฎีกา เพื่อให้เห็นว่ามิได้มีเจตนากระทำความผิดย่อมมิอาจรับฟังได้ กรณีจึงต้องรับฟังว่าจำเลยทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วในวันที่ 26 เมษายน 2561 การที่ในวันเดียวกันจำเลยได้ทำหนังสือขอกู้และสัญญาเงินกู้สามัญพิเศษ (แบบมีประกัน) เสนอต่อโจทก์ และต่อมาโจทก์ได้ส่งมอบเงินตามสัญญากู้ให้แก่จำเลยด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 โดยหักชำระหนี้เดิมพร้อมดอกเบี้ยและค่าเบี้ยประกันเหลือเงินจ่ายสุทธิจำนวน 397,406.40 บาท โดยไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยได้ทำหนังสือขอกู้และสัญญาเงินกู้สามัญพิเศษ (แบบมีประกัน) เสนอโจทก์จนกระทั่งได้รับโอนเงินกู้เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยดังกล่าวจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และหลังจากได้รับโอนเงินเข้าบัญชีแล้วก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิเสธไม่รับเงินตามสัญญากู้หรือบอกเลิกสัญญากู้กับโจทก์ การกระทำของจำเลยดังที่กล่าวมาจึงเป็นการรับสินเชื่อจากผู้อื่นมีจำนวนตั้งแต่สองพันบาทขึ้นไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือล้มละลาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 (1) ตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนข้ออ้างประการอื่นของจำเลยเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยจึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษา ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า มีเหตุควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดเป็นครั้งแรก ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยมีภาระครอบครัวต้องดูแล ในการทำสัญญากู้จำเลยได้หาผู้ค้ำประกันกับมีเงินทุนเรือนหุ้นสหกรณ์โจทก์ที่จำเลยถือหุ้นอยู่และบริษัทประกันภัยผู้เกี่ยวข้องเป็นหลักประกัน จำเลยได้รู้สำนึกในการกระทำความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายจากการกระทำของตนโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ทั้งยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนและโบนัสนำส่งโจทก์เพื่อชำระหนี้ การให้โอกาสจำเลยได้ประกอบสัมมาชีพต่อไปน่าจะเป็นผลดีและเป็นประโยชน์แก่จำเลยและสังคมมากกว่า กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้หลาบจำและป้องปรามมิให้จำเลยกระทำความผิดทำนองนี้อีก เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษใช้ดุลยพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ