คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 867/2550 แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้ โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 144 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) ริบธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ( เมทแอมเฟตามีน ) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ( เมทแอมเฟตามีน ) โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี และปรับ 200,000 บาท รวมจำคุก 11 ปี และปรับ 600,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนเงินของกลาง400,000 บาท แก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เวลา 18.25 นาฬิกา พันตำรวจตรีธัชพงศ์ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ โดยพันตำรวจตรีธัชพงศ์เป็นหัวหน้าชุดได้วางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด จากนายประจวบ ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษหลังเก่า เมื่อนายประจวบนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบ จึงทำการจับกุมและตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 10 เม็ด นายประจวบให้การรับสารภาพว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่ร้านเสริมสวยพูนศิริบิวตี้ จึงขอให้ศาลออกหมายค้นแล้วไปทำการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 107 เม็ด อาวุธปืนและกระสุนปืน พันตำรวจตรีธัชพงศ์แจ้งข้อหานายประจวบว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย และกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จากนั้นนำตัวนายประจวบมาที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยซึ่งเป็นน้องของนายประจวบได้มาพบพันตำรวจตรีธัชพงศ์และในวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยได้มาพบพันตำรวจตรีธัชพงศ์อีกครั้งพร้อมกับมอบเงินจำนวน 400,000 บาท ให้ จึงมีการจับกุมจำเลยแจ้งข้อหาว่า ให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ และยึดธนบัตรจำนวน 400,000 บาท เป็นของกลาง ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีหนังสือถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือไม่ โดยสมควรพิจารณาเสียก่อนว่าขณะที่จำเลยมาพบพันตำรวจตรีธัชพงศ์เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายประจวบซึ่งถูกจับกุมยังอยู่ในการควบคุมของพันตำรวจตรีธัชพงศ์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า มีการจับกุมนายประจวบโดยการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเมื่อเวลา 18.25 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรีธัชพงศ์ขอให้ศาลออกหมายค้นร้านเสริมสวยพูนศิริบิวตี้และไปตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนพร้อมกับอาวุธปืนและกระสุนปืนแล้วจึงนำตัวนายประจวบมาที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามที่กล่าวพอสมควร พันตำรวจตรีธัชพงศ์พยานโจทก์ก็เบิกความว่า ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ได้ควบคุมตัวนายประจวบมายังห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ และตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เหตุที่ยังไม่ได้นำตัวนายประจวบไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนขยายผล สอดคล้องกับบันทึกการจับกุมนายประจวบ ที่ระบุว่า ทำขึ้นเมื่อเวลา 20.30 นาฬิกา ของวันที่ 25 เมษายน 2549 เมื่อจำเลยมาพบพันตำรวจตรีธัชพงศ์ในเวลาประมาณ 21 นาฬิกา เชื่อว่าในขณะนั้นพันตำรวจตรีธัชพงศ์ยังไม่ได้นำตัวนายประจวบส่งพนักงานสอบสวน นายประจวบจึงยังอยู่ในการควบคุมของพันตำรวจตรีธัชพงศ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ขณะที่จำเลยไปพบและเสนอให้เงินจำนวน 400,000 บาท แก่พันตำรวจตรีธัชพงศ์เมื่อเวลา 21 นาฬิกา เพื่อให้ปล่อยนายประจวบนั้นมีการนำตัวนายประจวบส่งพนักงานสอบสวนแล้ว หน้าที่ของพันตำรวจตรีธัชพงศ์ในฐานะผู้จับกุมย่อมหมดไป คดีของนายประจวบอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน แม้จำเลยจะนำเงินจำนวน 400,000 บาท มามอบให้ในวันรุ่งขึ้น การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 นั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ส่วนปัญหาว่าการที่จำเลยได้เสนอเงินจำนวน 400,000 บาท ให้พันตำรวจตรีธัชพงศ์เพื่อให้ปล่อยตัวนายประจวบจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือไม่นั้น เห็นว่า พยานจำเลย ล้วนเป็นญาติจำเลยย่อมเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลย ทั้งเรื่องการอนุญาตให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ไม่มีเหตุที่จำเลยต้องมาพบพันตำรวจตรีธัชพงศ์ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการให้ประกันถึงสองครั้งและในครั้งที่สองก็ยังนำเงินมามอบให้พันตำรวจตรีธัชพงศ์อีกด้วย พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานให้และขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และเงินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้และไม่ริบเงินของกลาง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดในข้อหาจัดหาหรือให้เงินเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) หรือไม่ เห็นว่า มาตราดังกล่าวบัญญัติว่า ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น... (2) จัดหาหรือให้เงิน... เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ... และมาตรา 3 นิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด... โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 พันตำรวจตรีธัชพงศ์ กับพวกร่วมกันจับกุมนายประจวบ ผู้ต้องหา พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดี ต่อมาจำเลยได้เสนอขอให้และให้เงินสินบน 400,000 บาท แก่ผู้จับกุม เพื่อจูงใจให้ปล่อยตัวนายประจวบไปเสีย การกระทำของจำเลยเป็นการจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมนายประจวบซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2260/2549 ของศาลชั้นต้น เพื่อมิให้นายประจวบซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษ จำเลยจึงต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น เห็นได้ว่า นายประจวบต้องกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฐานใดฐานหนึ่ง และจำเลยให้เงินเพื่อมิให้นายประจวบถูกลงโทษ จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับนายประจวบในความผิดฐานนั้น ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่านายประจวบได้กระทำความผิดในข้อหาใด ปริมาณยาเสพติดให้โทษมีเพียงใด และศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 บทมาตราใด โจทก์จะบรรยายคลุมๆ ว่า นายประจวบกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ได้ เพราะหากจำเลยมีความผิดก็ต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับนายประจวบ เมื่อไม่ได้บรรยายความผิดของนายประจวบดังที่กล่าว ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยได้ แม้โจทก์จะระบุหมายเลขคดีที่นายประจวบถูกลงโทษมาในฟ้อง แต่ก็ไม่มีรายละเอียด เมื่อฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องในข้อหาจัดหาหรือให้เงินเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 จำคุก 6 เดือน ริบธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.