ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 และมีคำสั่งให้การประชุมกับมติต่าง ๆ ไม่มีผลใช้บังคับ รวมทั้งการใดอันได้กระทำไปตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวให้ตกเป็นโมฆะ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านโดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนมติพิเศษที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 เฉพาะระเบียบวาระที่ 6 เรื่อง พิจารณาลดทุนจดทะเบียนจาก 755,000,000 บาท เป็น 188,750,000 บาท โดยการลดมูลค่าหุ้นจากหุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ 25 บาท เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม และระเบียบวาระที่ 7 เรื่อง พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 5 เพื่อให้สอดคล้องกับการลดทุนในวาระที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติพิเศษที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 โดยอาศัยเหตุว่าผู้ถือหุ้นมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษซึ่งต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนในการลงมติพิเศษหรือไม่ เห็นว่า คำร้องขอของผู้ร้องในส่วนที่บรรยายว่าบริษัท ท. เป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษอันต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนในการลงมติพิเศษให้ลดทุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1185 และหากไม่นับคะแนนเสียงของบริษัท ท. เข้าด้วยแล้วก็ถือไม่ได้ว่าเป็นมติพิเศษให้ลดทุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1194 นั้น เป็นการกล่าวอ้างว่ามติพิเศษที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านดังกล่าวได้ลงมติโดยฝ่าฝืนมาตรา 1185 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมใหญ่เป็นเหตุให้การลงมติดังกล่าวเป็นมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบ เช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสียโดยอาศัยเหตุนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการต่อมาว่า กรณีมีเหตุเพิกถอนมติพิเศษที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 ในวาระที่ 6 และที่ 7 หรือไม่ เห็นว่า การลดทุนจดทะเบียนเพื่อล้างผลขาดทุนสะสมของบริษัทนั้น สามารถกระทำได้ แต่การลงมติในการประชุมใหญ่ต้องกระทำให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการประชุมใหญ่ โดยเฉพาะตามมาตรา 1185 ที่ห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นคนใดที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษออกเสียงลงคะแนนในข้อที่ประชุมจะลงมติ ในการลดทุนโดยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากหุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ 25 บาท ผู้ถือหุ้นทุกรายจะต้องถูกลดมูลค่าหุ้นที่ได้ชำระแล้วในจำนวนที่เท่ากัน โดยหุ้นที่ชำระเต็มมูลค่าหุ้น 100 บาทแล้ว เหลือมูลค่าหุ้นเพียง 25 บาท เท่ากับสูญเสียเงินลงทุนไปหุ้นละ 75 บาท แต่ในหุ้นที่ชำระไม่เต็มตามมูลค่าหุ้นกลับได้ความตามคำเบิกความของนายนพพร กรรมการผู้จัดการผู้คัดค้านตอบทนายผู้ร้องถามค้านว่า ในการลดทุนโดยการลดมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียน หุ้นที่ชำระครบเต็มมูลค่า 100 บาทแล้ว ลดมูลค่าไป 75 บาท เหลือเต็มมูลค่าคือ 25 บาท แต่ในส่วนของหุ้นที่ยังชำระไม่เต็มมูลค่าหุ้น โดยชำระเพียง 25 บาท เมื่อลดทุนลงร้อยละ 75 แล้ว จะเหลือเพียง 6.25 บาท จากมูลค่า 25 บาท หลังจากมีมติพิเศษให้ลดทุนจดทะเบียนเพื่อล้างผลขาดทุนสะสมแล้ว ผู้คัดค้านเรียกให้บริษัท ท. ชำระค่าหุ้นที่ยังค้างชำระอยู่ให้เต็มมูลค่า โดยมิได้เรียกให้ชำระให้เต็มจำนวนมูลค่าหุ้นเดิมคืออีกหุ้นละ 75 บาท ซึ่งจะได้เงินจำนวน 191,000,000 บาทเศษ แต่เรียกให้ชำระเพียง 11,000,000 บาทเศษ ดังนี้ เห็นได้ว่าบริษัท ท. ชำระเงินค่าหุ้นอีกเพียงหุ้นละ 18.75 บาท ก็เป็นการชำระเต็มตามมูลค่าหุ้นแล้ว รวมเป็นการชำระทั้งสิ้นหุ้นละ 43.75 บาท (25+18.75) ในขณะที่ผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเต็มตามมูลค่ามาก่อนลดทุน ชำระค่าหุ้นครบหุ้นละ 100 บาท ซึ่งมีความแตกต่างกัน การลดทุนจดทะเบียนโดยการลดมูลค่าหุ้นในหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นที่ไม่เท่ากันนี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นไม่เท่ากัน โดยผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วจะสูญเสียเงินลงทุนไปหุ้นละ 75 บาท ในขณะที่ผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นไปเพียงร้อยละ 25 หรือหุ้นละ 25 บาท ก่อนลดทุน จะลดมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้วจาก 25 บาท เป็นชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 6.25 บาท และผู้คัดค้านเรียกให้ชำระค่าหุ้นให้เต็มจำนวนอีกเพียงหุ้นละ 18.75 บาท เท่ากับผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นไว้เพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนลดทุน สูญเสียเงินลงทุนไปเพียงหุ้นละ 18.75 บาท (43.75-25) อันเป็นจำนวนที่ต่างกันมาก ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าหุ้นก่อนลดทุน และการขาดทุนสะสมได้เกิดขึ้นแล้วก่อนการลงมติพิเศษให้ลดทุน ผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้นจะต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้นต่อการขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกคน ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นทุกรายชำระค่าหุ้นให้เต็มจำนวนค่าหุ้นเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายที่จะต้องสูญเสียเงินลงทุนในจำนวนที่เท่ากันในแต่ละหุ้น กรณีนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่าบริษัท ท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 2,550,000 หุ้น ที่ยังชำระค่าหุ้นไม่เต็มมูลค่าเพียงรายเดียว โดยชำระเพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนการลดทุน เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมติพิเศษในการประชุมนี้เพียงรายเดียว บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการลงมติพิเศษเพื่อลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ จึงต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1185 และเมื่อในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 มีผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนรวม 5,975,500 หุ้น คะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนคือ 4,481,625 หุ้น ดังนั้น เมื่อไม่นับคะแนนเสียงของบริษัท ท. 2,550,000 หุ้น ที่มีการชำระค่าหุ้นเพียง 25 บาท เข้าด้วยแล้ว มติดังกล่าวก็ไม่ใช่คะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1194 มติดังกล่าวจึงไม่เป็นมติพิเศษให้ลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1145 และมาตรา 1224 ประกอบมาตรา 1194 แต่เป็นมติพิเศษอันผิดระเบียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนมติพิเศษที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 วันที่ 30 เมษายน 2561 ในวาระที่ 6 และที่ 7 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ