โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 158,330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสาว น. ผู้อนุบาลของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถโดยให้อยู่ในความอนุบาลของนางสาว น. ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2560 ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้โจทก์ถึงแก่ความตาย มีนางสาว น. และนายธนัตถ์ เป็นทายาทโดยธรรม เมื่อปี 2543 โจทก์ลงลายมือในใบถอนเงินธนาคาร ในฐานะเจ้าของบัญชี โดยจำเลยกรอกข้อความในช่องชื่อบัญชี ช่องเลขบัญชี ช่องวันที่ และช่องจำนวนเงิน จำนวน 4 ฉบับ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2543 จำนวนเงิน 131,000,000 บาท ฉบับที่ 2 ถึงที่ 4 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2543 จำนวนเงิน 10,979,319.55 บาท 1,020,680.45 บาท และ 1,000,000 บาท แล้วจำเลยถอนเงินทั้งหมดไป ต่อมาโจทก์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคาร ในฐานะเจ้าของบัญชี โดยมีผู้อื่นกรอกข้อความในช่องวันที่ ช่องจ่าย และช่องจำนวนเงิน จำนวน 5 ฉบับ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 สั่งจ่ายแก่จำเลยจำนวน 5,000,000 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2550 สั่งจ่ายว่า "สด" จำนวน 230,000 บาท ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 16 มกราคม 2551 สั่งจ่ายว่า "สด" จำนวน 300,000 บาท ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 สั่งจ่ายแก่โจทก์ จำนวน 1,800,000 บาท และฉบับที่ 5 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2551 สั่งจ่ายแก่โจทก์และจำเลย จำนวน 7,000,000 บาท จำเลยรับเงินตามเช็คฉบับที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนฉบับที่ 4 และที่ 5 จำเลยนำเช็คไปฝากเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร โจทก์และจำเลยเปิดบัญชีไว้ร่วมกัน ก่อนคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1201/2557 หมายเลขแดงที่ อ.982/2559 โดยกล่าวหาว่าจำเลยปลอมใบถอนเงินฉบับที่ 1 ถึงที่ 4 ของคดีนี้ และปลอมเช็คทั้งห้าฉบับของคดีนี้ ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์และฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
คดีนี้มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ในการพิพากษาคดีนี้ตามฟ้องข้อ 2.4 ถึงข้อ 2.8 ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.982/2559 ของศาลอาญาหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าในคดีอาญาดังกล่าวโจทก์ฟ้องจำเลยตอนหนึ่งว่าจำเลยปลอมเช็คตามฟ้องข้อ 2.4 ถึงข้อ 2.7 คดีนี้ โดยจำเลยปลอมเช็คของโจทก์ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้สั่งจ่ายด้วยการกรอกข้อความลงในเช็คทั้งสี่ฉบับ กับปลอมเช็คอีกฉบับตามฟ้องข้อ 2.8 โดยการกรอกข้อความและปลอมลายมือของโจทก์ในฐานะผู้สั่งจ่าย แล้วนำไปใช้ในการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย รับเป็นเงินสด และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ทำนองเดียวกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือ ความรับผิดในคดีแพ่งมีมูลเหตุอันเกิดจากการกระทำความผิดคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา" อันมีความหมายว่าคำพิพากษาในส่วนอาญานั้นต้องถึงที่สุดแล้ว และเป็นคู่ความเดียวกัน ทั้งข้อเท็จจริงที่คดีส่วนแพ่งจะต้องถือตามนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นโดยตรงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาด้วย เมื่อปรากฏว่า คำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4743/2561 ซึ่งโจทก์กับจำเลยต่างเป็นคู่ความเดียวกัน จึงต้องพิจารณาเพียงว่าคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นประเด็นโดยตรงกับคดีนี้หรือไม่ ซึ่งในคดีอาญาดังกล่าวทั้งสามศาลต่างพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่าจำเลยกรอกข้อความในเช็คตามความประสงค์ของโจทก์ ส่วนเช็คที่โจทก์อ้างว่าจำเลยปลอมทั้งฉบับโดยกรอกข้อความและลายมือชื่อของโจทก์ในเช็คนั้นฟังว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์ และจำเลยกรอกข้อความตามความประสงค์ของโจทก์เช่นกัน ส่วนศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันว่าโจทก์รู้เห็นและยินยอมในการทำนิติกรรมเช็คตามฟ้อง และเห็นว่าเช็คอีกฉบับหนึ่งเป็นลายมือชื่อของโจทก์จริง ในชั้นที่โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำนิติกรรมโดยมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์และเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่สั่งจ่ายเช็ค ประกอบกับโจทก์ไม่เคยโต้แย้งรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีกระแสรายวันที่ธนาคารจัดส่งให้โจทก์ทราบทุกเดือน จึงไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานปลอมและใช้ตั๋วเงินปลอมตามฟ้อง ย่อมเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า คำพิพากษาในคดีส่วนอาญาของทั้งสามศาลต่างวินิจฉัยในประเด็นโดยตรงแห่งคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ แม้จะมีรายละเอียดของการให้เหตุผลแตกต่างไปบ้างก็สืบเนื่องมาจากการวินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์และข้อฎีกาของโจทก์ แต่ผลสุดท้ายแห่งคดีคือ ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิ (เช็ค) ปลอม อันเกิดจากการฟังข้อนำสืบพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ในการพิพากษาคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.982/2559 ของศาลอาญา ว่าจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการปลอมเช็คและใช้เช็คตามฟ้องข้อ 2.4 ถึง 2.8 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.3 แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ตั้งแต่ข้อ 3 ข้อ 3.1 ถึงข้อ 3.7 ล้วนเป็นการคัดลอกข้อความมาจากอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ 5 ข้อ 5.1 ถึงข้อ 5.7 โดยมิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนในเรื่องใด ที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งและไม่มีประเด็นให้ศาลฎีกาวินิจฉัย เพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนตามฎีกาของโจทก์ในข้อ 4 ที่ว่า โจทก์มีพยานนำสืบประกอบพฤติกรรมแห่งคดีให้รับฟังได้ว่า ขณะโจทก์ถอนเงินและสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คตามข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.3 โจทก์มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ และจำเลยรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่กระทำโดยทุจริตฉ้อฉลนำเอกสารดังกล่าวที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ก่อนนำไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์ที่ตั้งประเด็นว่าจำเลยกรอกข้อความในใบถอนเงินที่โจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าของบัญชีโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม เพราะการลงลายมือชื่อของโจทก์โดยถูกฉ้อฉลเกิดจากการแสดงเจตนาโดยวิปริตเพราะสำคัญผิดและหลงเชื่อตามอุบายที่ถูกหลอกลวง ซึ่งแตกต่างจากการไม่รู้ข้อเท็จจริงโดยลงลายมือชื่อก่อนที่จำเลยจะกรอกข้อความในภายหลัง ฉะนั้น จึงเป็นข้อฎีกาที่นอกฟ้องนอกประเด็น ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) เช่นเดียวกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ