ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 และมีคำสั่งให้การประชุมกับมติต่าง ๆ ไม่มีผลใช้บังคับ รวมทั้งการใดอันได้กระทำไปตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวให้ตกเป็นโมฆะ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง (ที่ถูก ยกคำร้องขอ) กับให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องเพียงประการเดียวว่า มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 หรือไม่ เห็นว่า ฎีกาของผู้ร้องมิได้บรรยายว่ามติของที่ประชุมใหญ่ในวาระที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อบังคับของผู้คัดค้านด้วยสาเหตุใด และที่ประชุมใหญ่มิได้ลงมติใดในวาระที่ 7 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 ตามระเบียบวาระที่ 1 และที่ 7 สำหรับการลงมติในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นการอนุมัติการซึ่งกรรมการได้กระทำไปในอดีตเกี่ยวกับการเพิ่มทุนและการไม่เรียกให้ส่งใช้ค่าหุ้นนั้น แม้หนังสือเชิญประชุมระบุระเบียบวาระที่ 2 แต่เพียงว่า "พิจารณากิจการที่กรรมการทำในอดีตเกี่ยวกับการเพิ่มทุนและการเรียกชำระค่าหุ้นของบริษัท" โดยมิได้ระบุถึงการเพิ่มทุนครั้งใดในอดีตเป็นการเฉพาะเจาะจง และมิได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับหุ้นเพิ่มทุนที่ยังมิได้จัดสรรกับจำนวนหุ้นซึ่งยังมิได้เรียกให้ส่งใช้ค่าหุ้นจนเต็มมูลค่าก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือเชิญประชุมดังกล่าวเป็นการระบุถึงวัตถุประสงค์ของการเรียกประชุมตามระเบียบวาระนี้อันเป็นการแสดงถึงสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบแล้ว ส่วนจะเป็นการลงมติเพื่ออนุมัติแก่การใดซึ่งกรรมการได้ทำไปในอดีตนั้นเป็นเพียงรายละเอียดซึ่งผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมชอบที่จะได้รับทราบจากการปรึกษากิจการกันในการประชุมใหญ่ หนังสือเชิญประชุมตามระเบียบวาระที่ 2 จึงเป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ซึ่งชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 วรรคสอง (เดิม) แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 ในระเบียบวาระที่ 2 ส่วนการลงมติในวาระที่ 3 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นการลงมติให้ลดทุนจดทะเบียนของผู้คัดค้านจาก 188,750,000 บาท เป็น 47,187,500 บาท โดยการลดจำนวนหุ้นจาก 7,550,000 หุ้น เป็น 1,887,500 หุ้น เพื่อล้างผลขาดทุนสะสมของผู้คัดค้าน แก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของผู้คัดค้านให้สอดคล้องกับการลดทุน เพิ่มทุนจดทะเบียนของผู้คัดค้านอีก 202,812,500 บาท จาก 47,187,500 บาท เป็น 250,000,000 บาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 8,112,500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 25 บาท และแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของผู้คัดค้านให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุน นั้น ผู้ร้องฎีกาว่า ก่อนที่จะมีการลดทุนของผู้คัดค้านในปี 2561 บริษัท ท. ได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องถูกเรียกให้ส่งใช้ค่าหุ้นเพิ่มทุนในครั้งก่อน 2,550,000 หุ้น หุ้นละ 75 บาท เป็นเงิน 191,250,000 บาท ภายหลังการลดทุนของผู้คัดค้านในคดีนี้ บริษัท ท. ก็ได้รับประโยชน์จากการไม่ถูกเรียกให้ส่งใช้ค่าหุ้นเพิ่มทุนในครั้งก่อนสำหรับหุ้นที่ถูกยกเลิกซึ่งเป็นผลมาจากการลดทุนด้วยวิธีลดจำนวนหุ้น 1,912,500 หุ้น หุ้นละ 18.75 บาท เป็นเงิน 47,812,500 บาท (ที่ถูก 35,859,375 บาท) และไม่ต้องสูญเสียมูลค่าของเงินลงทุนเพื่อนำไปล้างผลขาดทุนสะสมของผู้คัดค้านในการลดทุนทุกครั้งตามสัดส่วนเหมือนดังเช่นผู้ถือหุ้นรายอื่นที่เคยชำระค่าหุ้นจนเต็มมูลค่ามาโดยตลอด บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการลงมติให้ลดทุนและเพิ่มทุนในคดีนี้ นั้น เห็นว่า ก่อนที่จะมีการลดทุนของผู้คัดค้านในปี 2561 หุ้นของผู้คัดค้านมีจำนวนทั้งหมด 7,550,000 หุ้น ประกอบไปด้วยหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นจนเต็มมูลค่า 100 บาท จำนวน 5,000,000 หุ้น และหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นบางส่วน 25 บาท จำนวน 2,550,000 หุ้น ซึ่งหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นบางส่วนดังกล่าวล้วนถือโดยบริษัท ท. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้คัดค้านซึ่งถือหุ้นทั้งหมด 5,669,986 หุ้น เกินกว่าสามในสี่ของจำนวนหุ้นของผู้คัดค้านทั้งหมด แม้ภายหลังมีการลดทุนโดยการลดจำนวนหุ้นในคดีนี้แล้ว หุ้นของผู้คัดค้านคงมีทั้งหมด 1,887,500 หุ้น ประกอบไปด้วยหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นจนเต็มมูลค่า 25 บาท จำนวน 1,250,000 หุ้น และหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้น 6.25 บาท จำนวน 637,500 หุ้น ซึ่งหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นบางส่วนดังกล่าวล้วนถือโดยบริษัท ท. หุ้นของบริษัทจำกัดแต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1096 แม้ต่อมามีการลดทุนของบริษัทด้วยวิธีการลดมูลค่าหุ้นหรือลดจำนวนหุ้นให้น้อยลง มูลค่าของหุ้นแต่ละหุ้นภายหลังลดทุนแล้วก็มีมูลค่าเท่ากัน หุ้นของผู้คัดค้านทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น 637,500 หุ้น ที่มีการชำระค่าหุ้นบางส่วนเพียงหุ้นละ 6.25 บาท คิดเป็นค่าหุ้นที่ยังมิได้ถูกเรียกให้ส่งใช้หุ้นละ 18.75 บาท รวม 11,953,125 บาท หรือหุ้นจำนวนที่เหลือ 1,250,000 หุ้น ที่มีการชำระค่าหุ้นจนเต็มมูลค่า 25 บาท แล้ว ก็ล้วนมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 25 บาท เท่ากัน หาใช่ว่าหุ้นของผู้คัดค้านทั้งหมดมีสองมูลค่าอย่างที่ผู้ร้องฎีกาไม่ แต่เมื่อผู้คัดค้านจะลดทุนจดทะเบียนจาก 188,750,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียน 47,187,500 บาท ด้วยวิธีการลดจำนวนหุ้นลงจาก 7,550,000 หุ้น เป็นหุ้นคงเหลือเพียงหนึ่งในสี่ของหุ้นเดิมหรือ 1,887,500 หุ้น เพื่อนำทุนที่ชำระไว้แล้วไปตัดผลขาดทุนสะสมนั้น สามารถกระทำได้ แต่เนื่องจากหุ้นของผู้คัดค้านในขณะนั้นมีการชำระค่าหุ้นไม่เท่ากัน คือ ชำระเต็มตามมูลค่าหุ้น 25 บาท แล้ว 5,000,000 หุ้น และชำระเพียงร้อยละ 25 หรือหุ้นละ 6.25 บาท 2,550,000 หุ้น เป็นผลให้หุ้นที่ชำระเต็มตามมูลค่าหุ้นแล้ว 25 บาท ถูกลดจำนวนลงไป 3,750,000 หุ้น คงเหลือ 1,250,000 หุ้น ส่วนหุ้นที่ชำระไม่เต็มมูลค่าหุ้นถูกลดจำนวนลงไป 1,912,500 หุ้น คงเหลือ 637,500 หุ้น ซึ่งส่วนที่ขาดทุนสะสมได้เกิดขึ้นก่อนการลงมติพิเศษให้ลดทุนแล้ว ผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้นจะต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้นต่อการขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย ก่อนที่จะลดทุนโดยการลดจำนวนหุ้นลง ผู้คัดค้านจะต้องให้ผู้ถือหุ้นที่ยังชำระค่าหุ้นไม่เต็มจำนวนค่าหุ้นชำระค่าหุ้นให้เต็มตามมูลค่าหุ้นเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายที่ถูกลดจำนวนหุ้นลงต้องสูญเสียเงินลงทุนในจำนวนที่เท่ากันในแต่ละหุ้น แต่กรณีนี้ขณะที่มีมติพิเศษให้ลดทุน หุ้นที่ถูกลดลงไปนั้นมีการชำระค่าหุ้นไม่เท่ากัน คือ หุ้นที่ชำระเต็มตามมูลค่าหุ้นแล้ว 25 บาท จำนวน 5,000,000 หุ้น เมื่อถูกลดจำนวนหุ้นลง ผู้ถือหุ้นในส่วนนี้ก็ต้องสูญเสียเงินลงทุนไปหุ้นละ 25 บาท แต่ในส่วนหุ้นที่ชำระไม่เต็มตามมูลค่าหุ้นหรือชำระเพียง 6.25 บาท เมื่อถูกลดจำนวนหุ้นลง ผู้ถือหุ้นในส่วนนี้ก็จะสูญเสียเงินลงทุนเพียง 6.25 บาท ซึ่งหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นเพียง 6.25 บาท มีทั้งหมด 2,550,000 หุ้น ถือโดยบริษัท ท. เพียงรายเดียว เมื่อลดทุนโดยการลดจำนวนหุ้นลงคงเหลือ 637,500 หุ้น จะทำให้บริษัท ท. ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องชำระค่าหุ้นในส่วนที่ถูกลดจำนวนลงไป 1,912,500 หุ้น ในอัตราหุ้นละ 18.75 บาท เป็นเงิน 35,859,375 บาท เพราะเมื่อจำนวนหุ้นถูกลดลงไปแล้วก็ไม่มีผลผูกพันที่จะต้องชำระค่าหุ้นอีกต่อไป คงต้องชำระค่าหุ้นเฉพาะหุ้นที่ยังเหลืออยู่ 637,500 หุ้น ในอัตราหุ้นละ 18.75 บาท เพื่อให้เต็มตามมูลค่าหุ้นเท่านั้น ดังนั้น บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ เพราะเป็นผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียวที่ได้รับประโยชน์จากมติการลดทุนโดยลดจำนวนหุ้นครั้งนี้ บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการลงมติพิเศษเพื่อลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ อันต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1185 เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 มีผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน 7,550,000 หุ้น คะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนคือ 5,662,500 หุ้น และเมื่อไม่นับคะแนนเสียงของบริษัท ท. เข้าด้วยแล้ว คะแนนเสียงที่ได้รับก็ไม่ถึงจำนวนสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1194 ถือไม่ได้ว่าเป็นมติพิเศษให้ลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1145 และมาตรา 1224 ประกอบมาตรา 1194 แต่เป็นมติพิเศษอันผิดระเบียบ กรณีจึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 ตามระเบียบวาระที่ 3 และที่ 4 และเมื่อเป็นดังนี้แล้ว การลงมติในวาระที่ 5 และที่ 6 อันเป็นการลงมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของผู้คัดค้านจาก 47,187,500 บาท เป็น 250,000,000 บาท และแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของผู้คัดค้านให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุน ซึ่งต้องอาศัยมติให้ลดทุนจดทะเบียนของผู้คัดค้านจาก 188,750,000 บาท เป็น 47,187,500 บาท และแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของผู้คัดค้านให้สอดคล้องกับการลดทุนในวาระที่ 3 และที่ 4 เสียก่อน ย่อมมีผลเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย กรณีจึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 ตามระเบียบวาระที่ 5 และที่ 6 เช่นกัน ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้มีคำสั่งให้การประชุมกับมติต่าง ๆ ไม่มีผลใช้บังคับ และการใดอันได้กระทำไปตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวให้ตกเป็นโมฆะ นั้น เห็นว่า เมื่อมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 เฉพาะตามระเบียบวาระที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบ ชอบที่ศาลจะเพิกถอนมติดังกล่าวนั้นเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 การประชุมและมติที่ถูกเพิกถอนดังกล่าวย่อมไม่มีผลใช้บังคับอยู่ในตัวแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีคำสั่งในเรื่องนี้ และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาประการอื่นของผู้ร้องเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนที่ผู้คัดค้านตั้งประเด็นมาในคำแก้ฎีกาว่า คำร้องขอของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่ามติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 ดังกล่าวเป็นมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 แต่กลับอ้างว่าการลดทุนและการเพิ่มทุนในคดีนี้ไม่สามารถล้างผลขาดทุนสะสมของผู้คัดค้านได้ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นผู้มีอำนาจควบคุมการบริหารกิจการของผู้คัดค้านอันก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และผู้คัดค้านทำให้หุ้นทั้งหมดมีมูลค่าไม่เท่ากันโดยมีมูลค่าหุ้นละ 25 บาท จำนวน 2,550,000 หุ้น และมูลค่าหุ้นละ 100 บาท จำนวน 950,000 หุ้น ซึ่งล้วนมิใช่เหตุตามมาตราดังกล่าวอันก่อให้เกิดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ นั้น เห็นว่า ปัญหาในข้อนี้แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นเรื่องอำนาจยื่นคำร้องขอซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 252 สำหรับหุ้นจำนวน 2,550,000 หุ้น และ 950,000 หุ้น ดังกล่าวเป็นหุ้นเพิ่มทุนตามมติพิเศษที่ประชุมใหญ่ของผู้คัดค้านเมื่อปี 2545 ซึ่งมีการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 2,550,000 หุ้น ให้แก่บริษัท ท. โดยผู้ร้องบรรยายคำร้องขอไว้ตอนหนึ่งว่า ผู้คัดค้านละเว้นไม่เรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวโดยมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาประกอบกับเนื้อหาตามคำร้องขอในส่วนที่ผู้ร้องบรรยายว่าการลดทุนและการเพิ่มทุนในคดีนี้ไม่สามารถล้างผลขาดทุนสะสมของผู้คัดค้านได้ หากแต่ผู้คัดค้านต้องการลดอัตราส่วนการถือหุ้นและมูลค่าหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยทำให้ไม่มีมูลค่าหลงเหลืออยู่ และบริษัท ท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการนี้ ทั้งมติพิเศษให้ลดทุนและเพิ่มทุนดังกล่าวซึ่งไม่มีการเรียกให้บริษัท ท. ส่งใช้ค่าหุ้นเพิ่มทุนครั้งก่อนอีกหุ้นละ 75 บาท จนเต็มมูลค่าหุ้นละ 100 บาท เสียก่อนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำร้องขอของผู้ร้องย่อมเป็นการกล่าวอ้างว่าบริษัท ท. เป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษอันต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนในการลงมติพิเศษให้ลดทุนและเพิ่มทุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1185 แล้ว และหากไม่นับคะแนนเสียงของบริษัท ท. เข้าด้วยแล้วก็ถือไม่ได้ว่าเป็นมติพิเศษให้ลดทุนและเพิ่มทุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1194 เท่ากับว่ามติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านดังกล่าวได้ลงมติโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมใหญ่ของบริษัทจำกัด เป็นเหตุให้การลงมติดังกล่าวเป็นมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบ เช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสียโดยอาศัยเหตุนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ คำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้าน ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 เฉพาะตามระเบียบวาระที่ 3 ถึงที่ 6 เรื่อง พิจารณาลดทุนจดทะเบียนจาก 188,750,000 บาท เป็น 47,187,500 บาท โดยการลดจำนวนหุ้นจาก 7,550,000 หุ้น เป็น 1,887,500 หุ้น เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม พิจารณาแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อให้สอดคล้องกับการลดทุน พิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 202,812,500 บาท โดยการออกหุ้นสามัญ 8,112,500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 25 บาท และพิจารณาแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 60,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ