โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาเด็กหญิง อ. ผู้เสียหายที่ 1 โดยนางสาว ว. ผู้แทนโดยชอบธรรม และนางสาว ว. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกผู้เสียหายที่ 2 ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 และโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อร่างกายและชื่อเสียงของโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ค่าเสียหายต่อเสรีภาพ ร่างกาย จิตใจ และชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 12 มิถุนายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ให้ยกคำร้องในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง และให้ยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เด็กหญิง อ. โจทก์ร่วมที่ 1 ขณะเกิดเหตุอายุ 14 ปีเศษ เป็นบุตรของโจทก์ร่วมที่ 2 กับนาย ก. ในวันเวลาเกิดเหตุ โจทก์ร่วมที่ 1 ถูกนาย ต. กระทำชำเราที่บ้านของจำเลย ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร และฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ฎีกา ความผิดฐานดังกล่าวและคำร้องทางแพ่งสำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความสอดคล้องตรงกันในข้อที่เป็นสาระสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ร่วมที่ 1 และนางสาว น. เป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์เดียวกันเบิกความยืนยันว่า ขณะที่นาย ต. ก่อเหตุ จำเลยอยู่ที่บ้านที่เกิดเหตุ และจำเลยเป็นผู้ห้ามปรามมิให้นางสาว น. และนาย ส. เข้าช่วยเหลือโจทก์ร่วมที่ 1 โดยนางสาว น. ให้การต่อพนักงานสอบสวนในโอกาสแรกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาไม่นานหลังเกิดเหตุ ตามบันทึกคำให้การของพยานว่า ขณะที่โจทก์ร่วมที่ 1 ร้องตะโกนขึ้นว่า ช่วยด้วย พยานและนาย ส. กำลังจะเข้าไปช่วย จำเลยดึงแขนของพยานและนาย ส. เข้าไปในห้องซึ่งอยู่ตรงข้ามห้องที่เกิดเหตุ จำเลยบอกกับพยานว่าไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว เป็นเรื่องระหว่างคนสองคน แม้นาย ส. จะมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ในทำนองว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งแตกต่างจากที่นาย ส. เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ตามบันทึกคำให้การของพยานที่ให้การไว้ว่า ขณะที่พยาน นางสาว น. และโจทก์ร่วมที่ 1 เดินผ่านบ้านที่เกิดเหตุ มีจำเลยและนาย ต. นั่งอยู่หน้าบ้านได้เรียกให้พยานกับพวกไปนั่งพูดคุยด้วย นาย ต. ดึงแขนโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปในบ้าน พยานและนางสาว บ จะเข้าช่วยเหลือ แต่จำเลยดึงแขนพยานและนางสาว น. เข้าไปอยู่ในห้องตรงข้ามห้องที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที พยานวิ่งเข้าไปในห้องที่เกิดเหตุพบโจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ในสภาพยังไม่ได้สวมกางเกงขาสั้น พยานช่วยสวมกางเกงให้และพาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกไปจากที่เกิดเหตุ นาย ส. ให้การหลังเกิดเหตุไม่นาน น่าเชื่อว่ายังไม่ทันคิดบิดเบือนข้อเท็จจริง อีกทั้งยังมีข้อเท็จจริงสอดคล้องตรงกับที่โจทก์ร่วมที่ 1 และนางสาว น. ให้การไว้ และนาย ส. ได้เบิกความว่า พยานเป็นญาติกับจำเลย จึงอาจเป็นได้ว่าเหตุที่เบิกความไปเช่นนั้นเพื่อต้องการช่วยเหลือจำเลย คำให้การของนาย ส. ในชั้นสอบสวนน่าเชื่อกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา ส่วนการที่คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 และนางสาว น. แตกต่างกันบ้าง และแตกต่างจากคำให้การชั้นสอบสวนอยู่บ้างก็เป็นเพียงพลความไม่ทำให้คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 และนางสาว น. มีน้ำหนักลดน้อยลงไป นอกจากนี้โจทก์ยังมีบันทึกคำให้การของนาย ต. ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน ต่อหน้าพนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์และที่ปรึกษากฎหมายยืนยันข้อเท็จจริงว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา พยานเดินทางไปที่บ้านของจำเลย พบจำเลย โจทก์ร่วมที่ 1 นางสาว น. นาย ส. และนาย อ. จำเลยชักชวนพยานให้เข้าไปมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ร่วมที่ 1 และจำเลยได้มอบถุงยางอนามัยให้กับพยาน แต่จำเลยไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยมีร้อยตำรวจเอกหญิง อ. พนักงานสอบสวนมาเบิกความรับรองเอกสารดังกล่าว แม้คำให้การชั้นสอบสวนของนาย ต. เป็นพยานบอกเล่าและคำซัดทอดของผู้กระทำความผิดด้วยกัน แต่คำซัดทอดดังกล่าวมิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของนาย ต. ให้เป็นความผิดของจำเลยผู้เดียว คงเป็นคำให้การแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่ตนได้ประสบมาจากการกระทำของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลย จึงรับฟังคำซัดทอดของนาย ต. ประกอบคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 เพื่อลงโทษจำเลยได้ ประกอบกับจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ตามวันและเวลาเกิดเหตุ จำเลยกับพวกนั่งพูดคุยกันอยู่ที่หน้าบ้านที่เกิดเหตุ ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 1 นางสาว น. และนาย ส. เดินเข้ามานั่งพูดคุยกัน จากนั้นนาย ต. กับพวกเข้ามานั่งเล่นที่บ้านสักพักนาย ต. ขอถุงยางอนามัยจากจำเลยอ้างว่าจะนำไปใช้กับคนรัก ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 และคำให้การของนาย ต. คำให้การของจำเลยดังกล่าวย่อมรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ทำให้คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 รวมทั้งคำเบิกความของนางสาว น. มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และนางสาว น. มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยเพื่อให้ต้องรับโทษหนักขึ้น เชื่อว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และนางสาว น. เบิกความถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับจำเลยไปตามความเป็นจริงที่รู้เห็นมา จึงมีน้ำหนักในการรับฟัง ที่จำเลยนำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่ได้อยู่ที่บ้านที่เกิดเหตุนั้นขัดแย้งกับที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน ไม่อาจรับฟังเอาเป็นความจริงตามข้อกล่าวอ้างดังกล่าว พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุในขณะที่โจทก์ร่วมที่ 1 ถูกกระทำชำเรา แต่มิได้ร่วมกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ขณะที่นาย ต. กระชากโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปในห้องเพื่อกระทำชำเรา จำเลยมิได้ขัดขวางหรือห้ามปรามแต่อย่างใด แต่กลับได้ความว่าจำเลยเป็นคนมอบถุงยางอนามัยให้แก่นาย ต. ก่อนที่นาย ต. จะเข้าไปกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 เมื่อนางสาว น. และนาย ส. จะเข้าไปช่วยเหลือโจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยดึงแขนอันเป็นการขัดขวางมิให้บุคคลทั้งสองเข้าไปช่วยเหลือ พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่พวกของจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนกระทำความผิด จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 86 แม้ว่าโจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการกระทำความผิด แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวนั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการจึงไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อในคดีอาญาศาลวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมที่ 1 และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมที่ 1 แม้โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ฎีกาเรื่องค่าสินไหมทดแทนมาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ