โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 นับโทษจำเลยต่อจากโทษ ของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 (เดิม), 267 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 267 (เดิม) ซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 6 เดือน โดยให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 หมายเลขแดงที่ อ.1144/2557 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 เวลา 23.50 นาฬิกา จำเลยแจ้งข้อความต่อร้อยตำรวจเอกวินัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวรสถานีตำรวจภูธรสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ว่าจำเลยขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นคัมรี่ กรุงเทพมหานคร มาตามถนนวงแหวนรอบที่สาม ขณะผ่านร้านอาหาร ส. มีรถยนต์เก๋งสีบรอนซ์เงิน ไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียน ขับตามมาปาดหน้ารถจำเลย แล้วมีชายคนหนึ่งลงจากรถเก๋งคันดังกล่าวมาเอาตัวนายสมชาย เพื่อนของจำเลยที่นั่งมากับจำเลยที่เบาะหน้าด้านซ้ายขึ้นรถเก๋งคันดังกล่าวแล้วขับหนีไป ไม่ทราบว่าไปไหนและติดต่อไม่ได้ จำเลยเกรงว่า นายสมชายจะได้รับอันตรายจึงมาแจ้งความ ร้อยตำรวจเอกวินัยให้ดาบตำรวจธนวัฒน์ จดข้อความที่จำเลยแจ้งลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี หลังจากนั้นจำเลยถูกดำเนินคดีในข้อหาจ้างวานฆ่านายสมชาย เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 หมายเลขแดงที่ อ.1144/2557 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ปัญหาเรื่องฟ้องซ้ำเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และโจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่มาด้วย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ ซึ่งตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียวหรือคราวเดียวกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอ้างว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจเอกวินัยขณะปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร แต่ในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) กับพวกว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2555 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ก่อให้นายสุรวุฒิ กระทำความผิดโดยการใช้ จ้าง วานนายสุรวุฒิและจำเลยที่ 2 ร่วมกันจัดหามือปืนไปดักใช้อาวุธปืนฆ่านายสมชายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ประเด็นข้อกล่าวหาของคดีจึงต่างกัน และการกระทำความผิดในแต่ละครั้งต่างวันเวลาและสถานที่กัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรมกัน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงมิได้ระงับไป ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ โจทก์มีนางสาวณิชานันท์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา พยานขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนสายเชียงใหม่ – เชียงราย มุ่งหน้าไปทางบ้านดอกแดง พยานเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางบ้านแม่ดอกแดง 50 เมตร เห็นรถยนต์เก๋งโตโยต้า รุ่นโซลูน่า สีบรอนซ์เงิน จอดบล็อกปาดหน้าขวางรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า คัมรี่ สีดำ มีผู้ชายสองคนหิ้วปีกผู้ชายคนหนึ่งอยู่ตรงฝั่งซ้ายของรถยี่ห้อโตโยต้า รุ่นโซลูน่า พยานสามารถมองเห็นเนื่องจากมีแสงสว่างจากไฟกิ่งถนนสายเชียงใหม่ – เชียงราย แสงไฟหน้ารถจักรยานยนต์ของพยานและรถยนต์เก๋งโตโยต้า คัมรี่ สีดำ ขณะที่พยานขับผ่านรถทั้งสองคันห่างประมาณ 1 เมตร ต่อมาพยานทราบว่ามีการฆ่ากันตายที่บริเวณดังกล่าว จึงเล่าเหตุการณ์ให้ดาบตำรวจวชรวรรษ ฟัง เห็นว่า คำเบิกความของนางสาวณิชานันท์พยานโจทก์มีรายละเอียดข้อเท็จจริงสอดคล้องตรงกับคำให้การชั้นสอบสวน ที่พยานปากนี้ให้การหลังเกิดเหตุไม่นาน ทั้งตรงกับคำเบิกความในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพยานเคยเบิกความไว้ในคดีดังกล่าว ซึ่งมีเหตุสมควรรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/5 แม้นางสาวณิชานันท์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้เห็นเหตุการณ์ แต่มาเบิกความตามที่พันตำรวจโทนริศ เล่าเหตุการณ์ให้พยานฟัง และอ้างว่าคนที่เห็นเหตุการณ์จริงไม่กล้ามาเบิกความ ซึ่งขัดแย้งกับพยานให้การไว้ในชั้นสอบสวนและที่เบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ทำให้นางสาวณิชานันท์เป็นพยานบอกเล่าที่ห้ามมิให้ศาลรับฟังแต่ตามพฤติการณ์ที่นางสาวณิชานันท์ให้การชั้นสอบสวนหลังเกิดเหตุไม่นาน และเบิกความในคดีอาญาดังกล่าวโดยไม่ปรากฏว่าได้รับการบอกเล่าเหตุการณ์มาจากบุคคลอื่นแต่อย่างใด การที่นางสาวณิชานันท์ตอบทนายจำเลยถามค้านโดยขาดเหตุผลสนับสนุนว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง และเชื่อว่าที่นางสาวนิชานันท์เบิกความนั้นเป็นไปตามความจริง จึงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา นายสมชายถูกผู้ชายสองคนจับตัวไปที่บ้านแม่ดอกแดง ส่วนที่จำเลยมาแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกวินัยในวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ซึ่งเป็นคืนเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 เวลา 23.45 นาฬิกา นายสมชายถูกผู้ชายสองคนจับตัวไปที่ถนนสายวงแหวนรอบที่สาม เมื่อจำเลยขับรถผ่านร้านอาหาร ส. นั้น จึงเป็นความเท็จ เนื่องจากนายสมชายถูกจับตัวไปก่อนเวลาที่จำเลยแจ้งความไว้ต่อร้อยตำรวจเอกวินัย ทั้งสถานที่ซึ่งจำเลยแจ้งถึงเหตุการณ์ที่นายสมชายถูกจับตัวไปก็ไม่ใช่สถานที่เดียวกันกับที่ได้ความตามที่พยานโจทก์เบิกความ เมื่อประกอบกับได้ความจากฎีกาของจำเลยว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) มีความผิดฐานร่วมกันฆ่านายสมชายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าจำเลยรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวอันไม่เป็นความจริงมาตั้งแต่ต้น และมาแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกวินัยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเป็นความเท็จ และให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีก็คงเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตน หรือหวังผลในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่าตนไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด แม้คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) และคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ไม่ได้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการเอาข้อเท็จจริงซึ่งยุติในคดีก่อนมาผูกมัดให้ศาลวินิจฉัยคดีนี้ไปตามนั้น แต่เป็นเพียงพยานหลักฐานส่วนหนึ่งซึ่งศาลอาจใช้ประกอบการพิจารณาคดีนี้เท่านั้น ส่วนจำเลยเพียงแต่เบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยจึงไม่อาจนับโทษต่อได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย หากคดีดังกล่าวลงโทษจำคุกศาลย่อมใช้ดุลพินิจให้นับโทษต่อกันได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง เพื่อจำเลยจะได้รับโทษที่กระทำผิดของทั้งสองคดี แต่เมื่อคดีดังกล่าวศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตจำเลย ย่อมไม่มีโทษจำคุกที่จะให้นับต่อกัน และโดยสภาพของโทษประหารชีวิตกับโทษจำคุกนั้นก็ไม่อาจนับโทษต่อกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดเชียงใหม่มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1727/2556 หมายเลขแดงที่ อ.1144/2557 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5