โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 และให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืน ราคา 1,200,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาย ศ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วม เป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ นาย ศ. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 7 ซึ่งอัยการสูงสุด ได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 1,200,000 บาท แก่ผู้เสียหาย (ที่ถูก โจทก์ร่วม) และให้ยก คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ นาย ศ. เข้าร่วมเป็นโจทก์ กับพนักงานอัยการ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 โจทก์ร่วมเช่าซื้อรถแทรกเตอร์จากบริษัท ส. ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,200,000 บาทเศษ ชำระเงินดาวน์ 60,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 3,000 บาท โจทก์ร่วมชำระค่าเช่าซื้อได้ 5 ถึง 6 งวด ไม่สามารถผ่อนต่อไปได้ จึงลงโฆษณาในแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ประกาศขายดาวน์รถแทรกเตอร์ ราคา 100,000 บาท ต่อมามีนางสาวสุนันทาติดต่อโจทก์ร่วมเจรจาขอซื้อแล้วเดินทางมาดูรถแทรกเตอร์ที่บ้านของโจทก์ร่วมในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อเห็นรถแทรกเตอร์แล้วนางสาวสุนันทาโทรศัพท์บอกพวกให้นำรถบรรทุกมาที่บ้านของโจทก์ร่วม จำเลยมากับรถบรรทุก จากนั้นโจทก์ร่วมและนางสาวสุนันทาทำสัญญาซื้อขายรถแทรกเตอร์ตามสัญญาซื้อขาย จำเลยถอนเงินให้โจทก์ร่วม 100,000 บาท และโอนเงินให้อีก 20,000 บาท นางสาวสุนันทาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด แล้วไม่ชำระอีก โจทก์ร่วมตามไปที่บ้านของนางสุนันทาที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ไม่พบรถแทรกเตอร์ นางสาวสุนันทาอ้างว่าอยู่ที่จำเลย โจทก์ร่วมติดต่อจำเลยไม่ได้ จึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นางสาวสุนันทาและจำเลยข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ ต่อมารถแทรกเตอร์ไปอยู่ประเทศกัมพูชา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลย จำเลยไม่มีความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 นั้น เห็นว่า ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกิดจากการกระทำ อันเป็นการอุปการะความผิดฐานยักยอกหรือความผิดอื่นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 เช่น ช่วย ซื้อ จำหน่าย หรือรับไว้โดยประการอื่นใด ความผิดฐานรับของโจร จึงต้องเกิดหลังจากมีการกระทำความผิดฐานยักยอก โจทก์มีโจทก์ร่วมเบิกความว่า โจทก์ร่วมลงประกาศขายดาวน์รถแทรกเตอร์ราคา 100,000 บาท นางสาวสุนันทาโทรศัพท์ติดต่อโจทก์ร่วมขอซื้อ เช้าวันรุ่งขึ้นนางสาวสุนันทามาดูรถที่บ้านของโจทก์ร่วมและโทรศัพท์ไปหา ใครบางคนโดยโจทก์ร่วมได้ยินเสียงนางสาวสุนันทาพูดว่ารถใช้ได้ จากนั้นราว 5 ชั่วโมง มีคนขับรถบรรทุกมาบ้านของโจทก์ร่วม จำเลยนั่งโดยสารมาด้วย เมื่อนางสาวสุนันทาทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ร่วมได้นำรถแทรกเตอร์ขึ้นรถบรรทุกขับออกไป นางสาวสุนันทาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวด แล้วไม่ชำระอีก โจทก์ร่วมไปบ้านของนางสาวสุนันทาที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ไม่พบรถแทรกเตอร์ นางสาว ส.บอกว่ารถแทรกเตอร์ อยู่ที่จำเลยโดยจำเลยเอารถแทรกเตอร์ไปใช้และติดต่อจำเลยไม่ได้ และมีนางสาวสุนันทาเบิกความว่า พยานเปิดเฟซบุ๊กเห็นโจทก์ร่วมประกาศขายรถแทรกเตอร์และพบนายหนึ่งรับซื้อ รถทุกประเภท จึงนัดโจทก์ร่วมดูรถแทรกเตอร์ พยานดูรถแทรกเตอร์แล้วได้ถ่ายรูปรถแทรกเตอร์ส่งไปให้นายหนึ่งดู นายหนึ่งให้หมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยแก่พยาน จำเลยแจ้งให้พยานรอก่อนเนื่องจากต้องนำรถบรรทุกมาด้วย จำเลยมาถึงบ้านของโจทก์ร่วม เวลาประมาณ 18 นาฬิกา มีการตกลงซื้อขายรถแทรกเตอร์และทำสัญญา จำเลยถอนเงิน ให้โจทก์ร่วม 100,000 บาท และโอนเงินจากบัญชีจำเลยมาเข้าบัญชีโจทก์ร่วมอีก 20,000 บาท จากนั้นพยานและจำเลยนั่งรถบรรทุกเดินทางไปกรุงเทพมหานคร จำเลย เหมารถให้พยานกลับบ้านแล้วแยกย้ายกัน โดยจำเลยนำรถแทรกเตอร์ไป พยานซื้อรถแทรกเตอร์จากโจทก์ร่วมแล้วขายต่อให้จำเลย ในชั้นพิจารณาจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยไปบ้านของโจทก์ร่วม จำเลยชำระเงินให้โจทก์ร่วมและร่วมกับนางสาวสุนันทานำรถแทรกเตอร์ออกจากบ้านของโจทก์ร่วมจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ดังนั้น จากคำเบิกความของพยานโจทก์และคำรับของจำเลยดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เมื่อนางสาวสุนันทาทำสัญญาซื้อขายดาวน์รถแทรกเตอร์แล้ว จำเลยและนางสาวสุนันทาร่วมกันนำรถแทรกเตอร์ของโจทก์ร่วมไปเป็นการร่วมกันรับมอบการครอบครองรถแทรกเตอร์จากโจทก์ร่วมอันเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำความผิดฐานยักยอก เมื่อต่อมาปรากฏว่ารถแทรกเตอร์ดังกล่าวไปอยู่ประเทศกัมพูชา แสดงว่า จำเลยหรือนางสาวสุนันทาขายรถแทรกเตอร์ไปหรือแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่นและจำเลยบ่ายเบี่ยงว่ามิได้รับมอบรถแทรกเตอร์ถือว่าจำเลยมีเจตนา ทุจริต จำเลยจึงมีความรับผิดในฐานะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับนางสาวสุนันทาในความผิดฐานยักยอก กรณีมิใช่นางสาวสุนันทายักยอกรถแทรกเตอร์ของโจทก์ร่วมก่อนแล้ว จำเลยกระทำอันเป็นการอุปการะความผิดฐานยักยอก ช่วย ซื้อ จำหน่าย หรือรับไว้โดยประการอื่นใดอันเป็นความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225 ที่จำเลยนำสืบว่า นางสาวสุนันทายืมเงินและให้ว่าจ้างรถบรรทุกไปบรรทุกรถแทรกเตอร์ มีเพียงตัวจำเลยที่เบิกความลอย ๆ ง่ายต่อการกล่าวอ้างพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้กรณีหาเป็นดังที่จำเลยฎีกา ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืน หรือชดใช้ราคาทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนราคา 1,200,000 บาท แก่โจทก์ร่วมนั้น ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับเงินจากจำเลย 120,000 บาท แล้ว จึงให้จำเลยชำระที่เหลือ เป็นเงิน 1,080,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย บางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 วรรคแรก จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ถูกประทุษร้าย ไม่ได้คืนราคา 1,080,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ของศาลอุทธรณ์ภาค 7