โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ 1,079,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์และจำเลยแถลงรับกันว่า หากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 โจทก์จะได้รับเงินบำเหน็จ 1,678,488 บาท เมื่อหักออกจากเงินบำเหน็จ 1,019,010 บาท ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ตามระเบียบมหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 แล้วจำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์อีก 659,478 บาท
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษา ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าภายหลังจากที่จำเลยประกาศใช้ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 แล้ว และก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ มีลูกจ้างหรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องโต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องขอให้เพิกถอนระเบียบดังกล่าวหรือไม่ กับมีการปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 โดยลูกจ้างอื่นที่ไม่ใช่โจทก์หรือไม่ อย่างไร แล้วส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยเร็ว ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนั้นใหม่ตามรูปคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง และวรรคสาม ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563
ศาลแรงงานกลางนัดพร้อมเพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษโดยโจทก์และจำเลยทำคำแถลงข้อเท็จจริงฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ตามลำดับ ยื่นต่อศาลแรงงานกลาง และแถลงรับกันว่า ตามบัญชีรายชื่อบุคลากรพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ลูกจ้างที่เป็นอาจารย์ส่วนใหญ่ยังกลับมาทำงานให้แก่จำเลยและลูกจ้างที่เกษียณอายุตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เมื่อได้รับเงินค่าตอบแทนต่าง ๆ ตามกฎหมายหรือตามระเบียบของจำเลยครบถ้วนแล้วจะลงลายมือชื่อในเอกสารมีข้อความทำนองว่าลูกจ้างไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป สำหรับโจทก์แถลงเพิ่มเติมอีกว่า โจทก์ไม่ทราบว่ามีลูกจ้างหรือบุคลากรใดโต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องขอให้เพิกถอนระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 หรือไม่ เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ส่วนจำเลยแถลงเพิ่มเติมว่า ไม่มีลูกจ้างหรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องโต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องขอให้เพิกถอนระเบียบดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์และจำเลยยังยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ต่อศาลแรงงานกลางด้วย แล้วศาลแรงงานกลางส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมิได้พิพากษาคดีใหม่
ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาและข้อเท็จจริงที่ยุติตามสำนวนว่า จำเลยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2533 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 107,910 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์เกษียณอายุ โดยให้มีผลสิ้นสุดการทำงานในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และจำเลยได้จ่ายเงินค่าชดเชย 1,079,100 บาท และเงินบำเหน็จ 1,019,010 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,098,110 บาท ให้โจทก์ โดยโจทก์รับเงินค่าชดเชยและเงินบำเหน็จดังกล่าวไปแล้ว จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 เดิมจำเลยมีระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 ลงวันที่ 28 มกราคม 2525 กำหนดสิทธิของผู้ได้รับเงินบำเหน็จไว้ในข้อ 10 ว่า "ในกรณีที่วิทยาลัยให้อาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ออกจากงานหรือเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด อาจารย์และเจ้าหน้าที่มีสิทธิที่จะได้รับทั้งเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้และเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน" และกำหนดวิธีคำนวณบำเหน็จไว้ในข้อ 22 ว่า "อาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมาครบ 10 ปี ขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับร้อยละ 60 ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน" ต่อมาจำเลยได้ออกระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 19 มกราคม 2549 โดยให้ยกเลิกระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 และกำหนดสิทธิของผู้ได้รับเงินบำเหน็จไว้ในข้อ 8 ว่า "สิทธิในการได้รับเงินบำเหน็จตามข้อ 7 นั้น หากบุคลากรมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนด มหาวิทยาลัยจะจ่ายเงินชดเชยให้ โดยบุคลากรผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ เว้นแต่เงินชดเชยนั้นมีจำนวนน้อยกว่าเงินบำเหน็จที่คำนวณได้ตามระเบียบนี้เท่าใด มหาวิทยาลัยจะจ่ายส่วนที่น้อยกว่านั้นเพิ่มให้อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินบำเหน็จ" แล้วยังกำหนดวิธีคำนวณบำเหน็จไว้ในข้อ 22 ว่า "บุคลากรที่ปฏิบัติงานครบ 20 ปี ขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวนร้อยละ 75 ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน" แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องเพิกถอนระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 ระเบียบดังกล่าวยังไม่ได้ถูกเพิกถอนโดยคำสั่งศาลจึงมีผลบังคับใช้โดยชอบ และตามระเบียบนี้ในข้อ 3 มีข้อความระบุไว้ว่า เมื่อระเบียบนี้ใช้บังคับใช้แล้ว ให้ยกเลิกระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ คำสั่งและประกาศใด ๆ ที่เกี่ยวกับบำเหน็จทุกฉบับ ที่มีหรือใช้อยู่ก่อนหน้านี้ทั้งหมดและให้ใช้ระเบียบนี้แทน เมื่อระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วยบำเหน็จ พ.ศ. 2549 มีผลใช้บังคับและจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตามระเบียบฉบับใหม่ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จเพิ่มเติมให้แก่โจทก์อีก ส่วนศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยว่า ระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 ใช้บังคับก่อนที่โจทก์จะเข้าทำงานกับจำเลยแปดปีเศษ ส่วนระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 ใช้บังคับก่อนที่โจทก์จะเกษียณอายุเป็นเวลา 12 ปีเศษ จึงอนุมานได้จากพฤติการณ์แห่งคดีว่าโจทก์ยินยอมในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายแล้ว ระเบียบดังกล่าวจึงมีผลบังคับแก่โจทก์ เมื่อจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จตามระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์อีก
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปได้ว่า การที่จำเลยออกระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 มาใช้บังคับโดยยกเลิกระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์และลูกจ้างอื่น โดยโจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลงกันในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ทั้งโจทก์ไม่ได้ยินยอมโดยชัดแจ้ง การออกระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ไม่อาจนำมาใช้บังคับกับโจทก์ สิทธิการได้รับเงินบำเหน็จของโจทก์ต้องใช้ระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 บังคับ เห็นว่า คดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างประเภทสถาบันอุดมศึกเอกชนที่มีการคุ้มครองแรงงานไว้โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ 2546 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 23 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "กิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน" และวรรคสอง บัญญัติว่า "การคุ้มครองการทำงาน และผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวกิจการของจำเลยจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ เพียงแต่ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เท่านั้น โดยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2549 อันเป็นกฎกระทรวงที่คุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาใช้บังคับ ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 และการที่จำเลยออกระเบียบเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ 2549 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิกระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 ก็ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติค่าแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 หรือจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 แต่อย่างใด จำเลยมีอำนาจออกระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 โดยไม่จำต้องตกลงกับโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลย หรือโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลยต้องยินยอมโดยชัดแจ้งจึงจะกระทำได้ดั่งที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฎีกา แม้โจทก์จะเข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยในขณะที่พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 ใช้บังคับอยู่ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 มาตรา 129 บัญญัติให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยจึงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาจำเลย และต้องอยู่ภายใต้บังคับระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 ที่ออกมาโดยชอบ เมื่อนับแต่จำเลยออกระเบียบดังกล่าวมาจนถึงวันที่โจทก์เกษียณอายุเป็นเวลานานถึง 12 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลยคนอื่นขอให้เพิกถอนระเบียบดังกล่าว เช่นนี้ ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงยังคงใช้บังคับแก่ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย การที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามระเบียบดังกล่าวชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ที่พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนั้นใหม่ตามรูปคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม นั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมายังไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ซึ่งเมื่อย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว ศาลแรงงานกลางไม่ต้องพิพากษาคดีใหม่หากเห็นว่าไม่เป็นให้ผลคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่เป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ต้องพิพากษาคดีใหม่ การย้อนสำนวนในกรณีนี้ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษไม่จำต้องพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเพราะหากศาลแรงงานกลางไม่ได้พิพากษาคดีนั้นใหม่ ก็เท่ากับว่าไม่มีคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางให้ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษตรวจสอบเพราะถูกยกไปเสียแล้ว ดังนั้น ในส่วนของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษฉบับนี้ที่ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาคดีใหม่ จึงไม่มีคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางให้ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ในส่วนที่พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษฉบับดังกล่าว และพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ ฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563