โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกป่วยหนัก นายวิชัยซึ่งไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง เพราะมิใช่นายอำเภอหรือผู้รับมอบอำนาจ ได้ร่วมกับจำเลยทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองโดยไม่ชอบ ยกทรัพย์ให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสาม ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะโจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของโจทก์ทั้งหมด
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์กับเจ้ามรดกจดทะเบียนสมรสกันขณะที่เจ้ามรดกป่วยหนักไม่รู้สึกตัวและไม่มีสติสัมปชัญญะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสามเป็นบุตรของพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดก นายวิชัยปลัดอำเภอซึ่งรักษาราชการแทนนายอำเภอได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายและตรงตามความประสงค์ของเจ้ามรดกจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับเจ้ามรดกได้ทำขึ้นโดยความรู้เห็นยินยอมของเจ้ามรดก นายวิชัยปลัดอำเภอมีอำนาจทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองได้ในฐานะผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอ พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไม่เป็นโมฆะ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้ววินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งยื่นโดยนายคณิศร อินทรตระกูล ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงคำฟ้องนั้นปรากฏว่าขณะยื่นฟ้องอุทธรณ์ นายคณิศรขาดต่อใบอนุญาตทนายความซึ่งมีผลทำให้ขาดจากการเป็นทนายความ ไม่มีอำนาจแต่งฟ้องอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่อาจรับวินิจฉัยได้ ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับเจ้ามรดกได้ทำขึ้นโดยความรู้เห็นยินยอมของเจ้ามรดก พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่านายวิชัยปลัดอำเภอไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง เจ้ามรดกไม่มีเจตนาทำพินัยกรรมโดยได้ทำพินัยกรรมฉบับดังกล่าวในขณะที่เจ้ามรดกขาดสติสัมปชัญญะพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองเป็นโมฆะนั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้ประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาดังกล่าวโจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไว้ในชั้นศาลอุทธรณ์แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่อาจรับวินิจฉัยได้ ซึ่งมีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ประเด็นดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกานั้น เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบจะรับไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ส่วนฎีกาของโจทก์นอกจากนี้ ก็เห็นว่ามีทั้งฎีกานอกเหนือจากประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์ มีทั้งฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์และมีทั้งฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์.