คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 4, 8, 8 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 90 ริบเงินตราธนบัตรไทย 47,720,000 บาท และรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กจ 8888 แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ของกลาง ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องว่า เงิน 16,026,000 บาท และรถยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เงิน 5,475,000 บาท ของกลางเป็นของผู้ร้องที่ 2 ผู้ร้องทั้งสองมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่ผู้ร้องทั้งสอง ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยและผู้ร้องทั้งสองไม่มา โดยศาลชั้นต้นได้ออกหมายจับจำเลยฐานไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยแล้ว แต่ยังจับไม่ได้ และเลื่อนการอ่านคำพิพากษา โดยแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองทราบแล้ว แต่จำเลยและผู้ร้องทั้งสองไม่มา ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยและผู้ร้องทั้งสอง โดยพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8, 8 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ริบของกลาง ให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับในอัตราร้อยละ 30 และจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงาน ผู้จับในอัตราร้อยละ 25 ของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบตามกฎหมาย ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง โจทก์ จำเลย และผู้ร้องทั้งสองมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นจนศาลชั้นต้นออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดแล้ว
จำเลยและผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยและผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยแต่ให้รับอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองและจำเลยเป็นราษฎรของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้ร้องที่ 1 เป็นมารดาผู้ร้องที่ 2 จำเลยเป็นสามีผู้ร้องที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งจังหวัดเชียงรายที่ 1380/2563 เรื่อง การระงับการเดินทางเข้า – ออกของบุคคล ยานพาหนะและสิ่งของ ณ จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรนการค้าและช่องทางอื่น ๆ ตลอดแนวชายแดนจังหวัดเชียงรายเป็นการชั่วคราว คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีประกาศห้ามบุคคลเดินทางไปท้องถิ่นอื่นใดโดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2563 จำเลยและผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้จำเลยและผู้ร้องทั้งสองขยายระยะเวลาอุทธรณ์ โดยอ้างว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คดีสำหรับจำเลยจึงยุติตามคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า มีเหตุสุดวิสัยที่ผู้ร้องทั้งสองจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หรือไม่ เห็นว่า "เหตุสุดวิสัย" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เหตุสุดวิสัยจึงต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถป้องกันได้ แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว แต่สาเหตุที่ผู้ร้องทั้งสองไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดนั้น ได้ความจากนางสาวฐิตินันท์ พยานผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นญาติของผู้ร้องทั้งสองและจำเลยว่า ผู้ร้องทั้งสองทราบนัดสืบพยานจำเลยและนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง แต่ทนายความแนะนำไม่ให้ไปศาลเพราะผู้ร้องทั้งสองและจำเลยถูกออกหมายจับ และเบิกความตอบพนักงานอัยการโจทก์ถามค้านว่า ทนายความของผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้คัดสำเนาคำพิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองและจำเลย รวมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องทั้งสองทราบทางโทรศัพท์ แสดงว่าผู้ร้องทั้งสองทราบกำหนดนัดและผลคดีรวมทั้งสามารถติดต่อสื่อสารกับทนายของผู้ร้องทั้งสองได้โดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังได้ความจากคำเบิกความของนางสาวฐิตินันท์อีกว่า พยานเปิดร้านอาหารอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาประมาณ 15 วัน ผู้ร้องทั้งสองนำสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาให้พยานดูและขอคำปรึกษาจากพยาน ซึ่งขณะนั้นพยานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อันเป็นข้อบ่งชี้ว่า ผู้ร้องทั้งสองได้รับการติดต่อสื่อสารถึงการดำเนินคดีมาโดยตลอด แม้ผู้ร้องทั้งสองอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ผู้ร้องทั้งสองก็มีทนายความในประเทศไทย เมื่อทนายความของผู้ร้องทั้งสองมีอำนาจดำเนินคดีแทนและผู้ร้องทั้งสองสามารถติดต่อกับทนายความได้ ประกอบกับศาลชั้นต้นก็ยังคงเปิดทำการอยู่ เช่นนี้ ทนายความของผู้ร้องทั้งสองย่อมสามารถดำเนินการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องทั้งสองได้อยู่แล้ว การที่ผู้ร้องทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน