โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตำแหน่งพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษระดับ 2 มีหน้าที่เก็บเงินค่าผ่านทางจากผู้ใช้รถยนต์ผ่านทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และเก็บรักษาไว้เพื่อส่งมอบแก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยตามหน้าที่ จำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้ปฏิบัติหน้าที่เก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกันคือ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2539ระหว่างเวลา 6 นาฬิกา ถึง 14 นาฬิกา ต่อเนื่องกัน จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 27,450 บาท เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2539ระหว่างเวลา 6 นาฬิกา ถึง 14 นาฬิกา จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 29,280 บาท เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 เวลา 14 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกาต่อเนื่องกัน จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 26,070 บาท เมื่อระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2539เวลา 22 นาฬิกา ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2539 เวลา 6 นาฬิกาต่อเนื่องกัน จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 16,170 บาท เมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2539 เวลา 14 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกาต่อเนื่องกันจำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 29,500 บาท เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2540ระหว่างเวลา 14 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกาต่อเนื่องกัน จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 710 บาท เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2540 ระหว่างเวลา 14 นาฬิกาถึง 22 นาฬิกาต่อเนื่องกัน จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 11,140 บาท และเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2540 ระหว่างเวลา 6 นาฬิกา ถึง 14 นาฬิกาจำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 13,400 บาท รวมเป็นเงินค่าผ่านทางด่วนที่จำเลยเบียดบังเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้นจำนวน 153,720บาท เหตุเกิดที่แขวงบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 91และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 153,720 บาท แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยกระทำความผิดรวม 8 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 40 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 153,700 บาท แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษ ระดับ 2 ประจำด่านบางนาและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่เก็บเงินค่าผ่านทางจากผู้ใช้รถผ่านทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสุนัยสุขสมบูรณ์ นางสาวสายทอง ไตรศัพท์ นางวรารัตน์ แก้วโชติ นางสาวละเมียด มโนเกื้อกูล นางสายหยุด สุ่นศักดิ์สวัสดิ์ และนายปัญญาไชยยานนท์ พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในการทำงานของพนักงานเก็บเงิน พนักงานมีหน้าที่กดปุ่มที่แป้นพิมพ์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ตามประเภทของรถที่ผ่านและประเภทของการจ่ายเงินหากพนักงานไม่กดปุ่มเวลาที่รถแล่นผ่านหรือกดแต่ประเภทรถไม่ได้กดประเภทของการจ่ายเงิน ก็จะมีเสียงสัญญาณยูเอพีหรือพลการดังขึ้นซึ่งหมายความว่าเก็บเงินรถคันดังกล่าวไม่ได้ พนักงานที่อยู่บนหอควบคุมจะโทรศัพท์มาสอบถามและให้แก้ไขข้อมูล และบนพื้นถนนก่อนที่รถยนต์จะผ่านเข้าช่องทางด่วนในแต่ละช่องจะมีเครื่องตรวจจับรถยนต์เรียกว่า "เอวีซี" ซึ่งจะตรวจนับรถยนต์ที่แล่นผ่านโดยการตรวจจับโลหะ เพลา ล้อคู่ วัดความสูง และความยาวของตัวรถมากกว่าสามเมตร ข้อมูลที่ได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของพนักงานเก็บเงินแต่ละคนจะนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในชุดตรวจจับหรือ "เอวีซี"ที่พื้นถนน นายปัญญาเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของจำเลยพบว่าในวันที่ 2 ธันวาคม 2539 จำเลยส่งเงินขาดไป 27,440 บาท วันที่ 3 ธันวาคม 2539 ขาดไป 29,280 บาท วันที่ 13 ธันวาคม2539 ขาดไป 26,070 บาท วันที่ 15 ธันวาคม 2539 ขาดไป 16,170บาท วันที่ 22 ธันวาคม 2539 ขาดไป 29,500 บาท วันที่ 9 มกราคม2540 ขาดไป 700 บาท วันที่ 12 มกราคม 2540 ขาดไป 11,140 บาทและวันที่ 22 มกราคม 2540 ขาดไป 13,400 บาท ตามสำเนาบันทึกสรุปรายงานส่งเงินเข้าธนาคารเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.10 รวมเป็นเงิน153,700 บาท ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยเก็บเงินได้ตามจำนวนที่ตรวจสอบได้และเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปนั้นเห็นว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีการตรวจสอบในการปฏิบัติงานของพนักงานเก็บเงินทุกคนเพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากความละโมบของพนักงานที่ต้องอยู่กับเงินตลอดเวลาและเกิดความยากได้ โดยให้พนักงานเก็บเงินกดแป้นพิมพ์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ตามประเภทของรถที่ผ่านและประเภทของการจ่ายเงิน หากไม่กดจะไม่มีจำนวนเงินปรากฏในเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะเป็นตัวฟ้องว่ามีรถผ่าน โดยมีเสียงสัญญาณดังขึ้นและพนักงานควบคุมจะทราบเพราะเครื่องทำงานไม่ครบวงจร ดังนั้นการที่จำเลยได้รับเงินจากรถที่วิ่งผ่านทางด่วนแล้วไม่กดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์หรือกดแป้นพิมพ์แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ทำงานหรือขัดข้องตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เครื่องตรวจจับหรือ "เอวีซี"จะตรวจนับจำนวนรถที่วิ่งผ่านเอง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วจะประเมินผลและคำนวณยอดออกมาว่าจำเลยส่งเงินขาดหรือเกินจำนวนเท่าใด จากการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยส่งเงินขาดจำนวน 8 ครั้ง ตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.10 แม้จะไม่มีพยานบุคคลมายืนยันว่าจำเลยเบียดบังเงินที่จำเลยเก็บค่าผ่านทางมาได้แต่เมื่อจำเลยได้รับเงินค่าผ่านทางมาแล้วและไม่ส่งเงินให้ครบโดยมีเอกสารเป็นพยานหลักฐาน ฟังได้ว่าจำเลยมีหน้าที่รักษาเงินโดยชอบแม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้นก็ตาม อีกทั้งการรับเงินแล้วรวบรวมนำส่งต่อไปนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการจัดการทรัพย์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 แล้วการนำส่งเงินไม่ครบถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าจำนวนเงินตามใบส่งตรงกับต้นขั้วใบเสร็จรับเงินจึงเป็นหลักฐานสำคัญว่าจำเลยไม่ได้ทุจริตก็ตาม ในกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจำเลยได้รับใบเสร็จรับเงินมาเพื่อจ่ายให้แก่รถที่ใช้ทางด่วนทุกคันตามประเภทและราคาของรถ หากผู้ใช้ทางด่วนไม่ต้องการใบเสร็จจำเลยต้องฉีกใบเสร็จรับเงินนั้นด้วย แต่ในกรณีของจำเลยปรากฏว่าจำนวนรถที่วิ่งผ่านมีปริมาณมากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกแสดงว่าจำเลยรับเงินมามากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกออกไป แม้จำนวนเงินที่จำเลยส่งจะตรงกับจำนวนใบเสร็จก็มิได้เป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่ได้ทุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน