โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 313,745.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 313,745.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1119 ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา พร้อมสิ่งปลูกสร้างและกิจการน้ำดื่มให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 2,000,000 บาท โจทก์มอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและกิจการน้ำดื่มให้จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญาโดยกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระราคาให้เสร็จสิ้น ต่อมาโจทก์ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองชำระเงินให้แก่โจทก์รวม 19 ครั้ง เป็นเงิน 1,700,000 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและยังไม่มีการยกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร สัญญาจึงมีผลบังคับตามข้อความในสัญญา เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาซื้อขายมีข้อความว่า โจทก์ขายบ้านพร้อมที่ดินและกิจการน้ำดื่มแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000,000 บาท และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน แม้หนังสือสัญญาซื้อขายจะระบุชื่อชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขาย อันอาจจะแปลได้ว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาความตกลงในสัญญาโดยเฉพาะสัญญาข้อ 5 ที่ระบุว่า ผู้ซื้อต้องชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ขายให้ครบจำนวนภายในเวลา 1 ปี หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามถือว่าสัญญาเป็นโมฆะ เป็นที่เห็นได้ว่าการซื้อขายที่ดินยังไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์แก่กันได้ จำต้องอาศัยผลของการชำระเงินเป็นเงื่อนไข จึงแสดงถึงเจตนาของคู่สัญญาว่ามีเจตนาจะไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันในภายหลัง แม้โจทก์ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายแก่จำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย หาใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับฟังคำเบิกความของนายหาญทนงหรือกษิเดช แล้วเชื่อว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงให้หักราคาที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ของนายวินัยและนายหาญทนง เป็นเงิน 300,000 บาท จากราคาที่ดิน เป็นการนำสืบพยานบุคคลหักล้างเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เห็นว่า หนังสือสัญญาซื้อขายไม่ได้ระบุจำนวนเนื้อที่ดินที่ซื้อขาย การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่จำเลยทั้งสองรวมที่ดินของนายวินัยและนายหาญทนง เนื้อที่ 3 งาน ซึ่งอยู่ในรั้วที่ดินที่โจทก์นำชี้ด้วย และโจทก์ไม่สามารถโอนที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ให้แก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงตกลงกันให้หักราคาที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ซึ่งเป็นของนายวินัยและนายหาญทนงเป็นเงิน 300,000 บาท ออกจากราคาที่ดิน 2,000,000 บาท จึงเป็นการนำสืบถึงข้อตกลงต่างหากจากสัญญาซื้อขายว่า ได้มีการตกลงในการชำระราคาที่ดินที่ซื้อขายกันอย่างไร มิได้เป็นการนำสืบหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขาย จำเลยย่อมนำสืบได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้หักราคาที่ดินจำนวน 3 งาน ออกจากราคาตามสัญญาซื้อขายโดยไม่ได้วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาซื้อขายเลิกกันหรือไม่ ดังนั้น ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยบอกเลิกสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นลายลักษณ์อักษร สัญญาซื้อขายจึงยังมีผลใช้บังคับต่อกัน จึงเป็นข้อที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์มา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ