ผู้ร้องร้องว่า ธนาคารไทยพัฒนา จำกัด เป็นธนาคารพาณิชย์และได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นบริษัทจำกัดมีกรรมการชุดหนึ่งเป็นผู้ดำเนินงานแทน ซึ่งตามข้อบังคับของธนาคารและตามกฎหมาย ผู้เป็นกรรมการของธนาคารจะต้องแต่งตั้งขึ้นโดยที่ประชุมใหญ่เท่านั้น ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในธนาคารไทยพัฒนา จำกัดดังกล่าว เนื่องจากมีการเพิ่มทุนของธนาคารจาก 50 ล้านบาทเป็น100 ล้านบาท ธนาคารจึงจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่1/2513 ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2513 เพื่อเลือกตั้งกรรมการของธนาคารชุดใหม่ เพราะกรรมการชุดเก่าได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น 50 ล้านบาทและได้ลาออกทั้งคณะด้วย ในการจัดให้มีการประชุมครั้งนี้ ธนาคารได้ออกหนังสือนัดประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 6, 7,8 กุมภาพันธ์ 2513 แต่ได้ลงวันที่ย้อนหลังไปเป็นวันที่ 5 กุมภาพันธ์2513 อันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่ถูกต้องตามกฎหมายผู้ร้องได้รับหนังสือนัดประชุมดังกล่าวในระยะเวลาไม่ครบกำหนดตามกฎหมาย และการประกาศกำหนดนัดประชุมใหญ่ทางหนังสือพิมพ์ธนาคารได้เริ่มประกาศเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2513 เป็นการเอาเปรียบแก่ผู้ถือหุ้น และกีดกันไม่ให้ผู้ถือหุ้นได้ทราบและมีโอกาสเตรียมตัวเข้าประชุมและแสดงความคิดเห็นได้โดยเสรี ทำให้ผู้ถือหุ้นซึ่งในที่นี้รวมถึงตัวผู้ร้องด้วยเสียหายการประชุมใหญ่ครั้งนี้ย่อมตกเป็นโมฆะ และที่ที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลือกตั้งคณะกรรมการของธนาคารขึ้นชุดหนึ่งเพื่อดำเนินการแทนและในนามของธนาคารนั้น มติดังกล่าวจึงย่อมตกเป็นโมฆะด้วย จึงขอให้ศาลสั่งไต่สวนคำร้องและพิพากษาให้การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2513 ของธนาคารตกเป็นโมฆะ และเพิกถอนการแต่งตั้งกรรมการชุดดังกล่าวนั้นเสีย
ผู้คัดค้านคัดค้านว่าบริษัทธนาคารไทยพัฒนาจำกัดได้ลงพิมพ์โฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2513 ในหนังสือพิมพ์สองคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และส่งคำบอกกล่าวทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันการประชุมดังกล่าวก็เพื่อจะแก้ไขภาวะเสื่อมโทรมของธนาคารซึ่งกรรมการชุดเดิมกระทำไว้เมื่อกรรมการชุดใหญ่เข้ามารับงานได้ให้กรรมการผู้จัดการคนเก่าออกจากหน้าที่และกวดขันการดำเนินงานโดยตัดทอนค่าใช้จ่ายลงและพยายามเร่งรัดหนี้สิน ผู้ร้องรับหนังสือนัดประชุมใหญ่วิสามัญแล้วแต่ไม่ไปประชุม กลับมาร้องคัดค้านเช่นนี้ เป็นการทำให้เสียหายต่อส่วนรวม ต่อธนาคารและผู้ถือหุ้นอื่น การดำเนินการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 1/2513 เป็นการดำเนินการของกรรมการผู้จัดการที่ให้ออกจากตำแหน่งไปผู้คัดค้านและกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2513 จึงพร้อมใจกันลาออกจากตำแหน่ง แล้วบริษัทธนาคารไทยพัฒนาจำกัด ได้เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปีและที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นได้มีมติเป็นเอกฉันท์ตั้งกรรมการชุดใหม่และรับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1/2513และวิสามัญครั้งที่ 1/2513 แล้ว เหตุที่ผู้ร้องขอเพิกถอนจึงหมดไปขอให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องและผู้คัดค้านรับกันว่า คณะกรรมการชุดใหม่ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2513 ได้ลาออกทั้งคณะและต่อมาที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญครั้งที่ 1/2513 ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการชุดที่ลาออกนี้ขึ้นเป็นคณะกรรมการอีกโดยมีการเปลี่ยนตัวและเพิ่มตัวกรรมการคนใหม่เพียงคนสองคนเท่านั้น ผู้ร้องจึงฟ้องผู้คัดค้านคดีนี้กับคณะกรรมการชุดดังกล่าวขอให้พิพากษาว่าการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1/2513 เป็นโมฆะ และมติต่าง ๆ อันเกิดแต่การประชุมครั้งนี้ตกเป็นอันไร้ผลตามกฎหมาย ปรากฏตามคดีแดงที่ 3802/2513 ซึ่งศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานของผู้ร้องและผู้ร้องคัดค้าน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ
ผู้ร้องคัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่ผู้ร้องร้องว่าการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2513 ขัดต่อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของธนาคารการประชุมใหญ่ครั้งนี้ย่อมตกเป็นโมฆะ ฉะนั้น มติที่ประชุมที่เลือกตั้งกรรมการชุดหนึ่งขึ้น จึงย่อมตกเป็นโมฆะด้วยนั้น ปรากฏว่าภายหลังคณะกรรมการชุดนี้ได้ลาออกและต่อมาที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญครั้งที่ 1/2513 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เป็นกรรมการรับรองรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2513และลงมติเป็นเอกฉันท์ให้กรรมการชุดใหม่ให้สัตยาบันการกระทำของกรรมการชุดเก่าได้ ดังนี้ คำร้องขอที่ขอให้เพิกถอนมติการแต่งตั้งกรรมการย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไปเพราะกรรมการชุดที่ขอให้เพิกถอนนั้นได้หมดสภาพไปเสียแล้ว ส่วนข้อที่ขอให้เพิกถอนมติการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2513 ก็เช่นเดียวกัน คือ แม้ว่ามตินั้นจะผิดระเบียบซึ่งศาลอาจสั่งเพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ก็ตาม แต่เมื่อกรรมการชุดใหม่ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์รับรองและให้สัตยาบันในการกระทำของกรรมการชุดเก่าได้แล้ว มติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญก็เป็นอันใช้ได้เพราะมาตรา 1167 บัญญัติว่า "ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน" กรรมการชุดใหม่ย่อมเป็นตัวแทนของบริษัทโดยชอบ มีอำนาจให้สัตยาบันได้ เมื่อที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์มอบอำนาจให้กรรมการชุดใหม่ให้สัตยาบันการกระทำของกรรมการชุดเก่าได้แล้วเช่นนี้ ก็ย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคำร้องขอที่ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2513 ต่อไป
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น