โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญารับทุนไปฝึกอบรมต่างประเทศกับโจทก์โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ค่าที่พัก ค่าเดินทางไปกลับ และตกลงกันว่าในทันทีที่สิ้นสุดระยะเวลาฝึกอบรมจำเลยต้องเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ จำเลยต้องทำงานให้โจทก์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน ถ้าจำเลยไม่ทำงานให้โจทก์ครบตามระยะเวลาดังกล่าวไม่ว่าเพราะเหตุใด เว้นแต่กรณีที่โจทก์เลิกจ้างจำเลย โดยโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยต้องชดใช้เงินให้โจทก์จำนวน 50,000 บาทต่อปี ตามระยะเวลาทำงานที่ยังขาดอยู่เป็นเบี้ยปรับโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน แต่จำเลยไม่ได้ปฎิบัติตามสัญญารับทุนไปฝึกอบรมต่างประเทศและสัญญาจ้างแรงงานโดยจำเลยขาดงานติดต่อกันเกิน 3 วันทำงานโดยไม่มีเหตุอันควรโจทก์จึงมีคำสั่งเลิกจ้างจำเลย จำเลยจึงต้องชดใช้เบี้ยปรับให้โจทก์ตามสัญญา คิดเป็นจำนวนเงิน 78,014 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 78,014 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้เบี้ยปรับพร้อมดอกเบี้ย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วตามสัญญารับทุนไปฝึกอบรมต่างประเทศเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า"ถ้าผู้รับทุนไม่ทำงานให้แก่บริษัทให้ครบตามระยะเวลาทำงานขั้นต่ำหรือผู้รับทุนถูกบริษัทเลิกจ้างก่อนสิ้นสุดระยะเวลาทำงานขั้นต่ำ ไม่ว่าเพราะเหตุใด เว้นแต่กรณีบริษัทเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทผู้รับทุนจะต้องชดใช้เงินจำนวนในอัตรา 50,000 บาท(ห้าหมื่นบาทถ้วน) ต่อปี ตามจำนวนระยะเวลาทำงานขั้นต่ำที่ยังขาดอยู่เป็นเบี้ยปรับให้แก่บริษัททันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน" เห็นว่า ตามข้อตกลงดังกล่าวได้กำหนดไว้โดยแจ้งชัดว่า ในกรณีที่ผู้รับทุนไม่ทำงานให้ครบตามกำหนด หรือผู้รับทุนถูกบริษัทเลิกจ้างก่อนสิ้นสุดระยะเวลาทำงานไม่ว่าเพราะเหตุใดผู้รับทุนจะต้องชดใช้เงินให้แก่บริษัทตามจำนวนที่ระบุไว้ และข้อความที่ระบุว่า "เว้นแต่กรณีบริษัทเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท"ก็เป็นข้อความชัดแจ้งมีความหมายว่า กรณีโจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ เช่น ระเบียบข้อบังคับในการทำงานของโจทก์ตามเอกสาร หมาย จ.4 ข้อ 51.4(4)ระบุเกี่ยวกับการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไว้ว่าละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรถ้าจำเลยละทิ้งหน้าที่เพียง 1 วัน โจทก์ก็เลิกจ้างจำเลยเสียโดยไม่จ่ายค่าชดเชย การเลิกจ้างของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงาน โจทก์ก็จะไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 6 ได้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 16 พฤษภาคม 2533 เป็นเวลา 13 วันติดต่อกันซึ่งตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 51.4(4) กำหนดให้โจทก์เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์จึงเลิกจ้างจำเลยโดยถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว จำเลยต้องชดใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อความตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 6 หาอาจจะแปลความได้ตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว"
พิพากษายืน