คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 253/2549 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยมีความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี รวมเป็นจำคุก 10 ปี 12 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า บันทึกคำให้การของนายอนุรักษ์ ในชั้นสอบสวนมีน้ำหนักน้อยไม่อาจนำมารับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็น 2 กรรม ต่างกรรมต่างวาระกัน คือ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสอง แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด กรรมหนึ่ง กับเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 กระสุนปืนถูกบริเวณศีรษะ แต่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย เพียงได้รับอันตรายแก่กาย อีกกรรมหนึ่ง ในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงถึงการกระทำกรรมแรกว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2546 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยกับพวกรวม 3 คน ขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผ่านมายังกลุ่มผู้เสียหายทั้งสอง โดยจำเลยนั่งกลางและนายอนุรักษ์ นั่งท้ายสุด แล้วนายอนุรักษ์ยิงปืนใส่กลุ่มผู้เสียหายทั้งสอง แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด ส่วนกรรมหลังโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 เวลาหลังเที่ยงคืน จำเลยกับพวกขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ โดยจำเลยนั่งกลางเช่นเดิม แล้วนายอนุรักษ์ซึ่งนั่งท้ายสุดใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มผู้เสียหายและกระสุนปืนถูกศีรษะของผู้เสียหายที่ 1 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยกับพวกที่ยิงในกรรมแรกนั้น เป็นการยิงข่มขู่ ส่วนการยิงในกรรมหลังฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับพวกยิงผู้เสียหายที่ 1 จริง แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพียงกระทงเดียว เท่ากับเป็นการยกฟ้องกรรมแรกและลงโทษกรรมหลัง เมื่อจำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว ส่วนโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ถือว่าโจทก์พอใจ ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติว่า จำเลยไม่ได้ร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษในกรรมแรก ในชั้นอุทธรณ์คงมีประเด็นตามที่จำเลยอุทธรณ์เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ในกรรมหลังตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ยิงปืนในกรรมแรก แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนการยิงในกรรมหลัง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากับนายอนุรักษ์และเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิง แล้วพิพากษายืนในผล เท่ากับเป็นการลงโทษจำเลยกรรมแรกและยกฟ้องกรรมหลัง ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดกรรมหลัง ก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดกรรมหลัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 หยิบยกข้อเท็จจริงถึงการกระทำของจำเลยกรรมแรกซึ่งยุติไปแล้วขึ้นมาวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดและพิพากษาลงโทษจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการพิจารณาพิพากษานอกฟ้องอุทธรณ์อันเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อโจทก์ไม่ฎีกาคัดค้านขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดกรรมหลังซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด จึงชอบที่ศาลฎีกาจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นกรรมหลังเสีย โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาใหม่ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7